วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Google search engine
หน้าแรกศิลปวัฒนธรรมเปิดวัดป่าโนนนิเวศน์ตามรอย“หลวงปู่มั่น”

เปิดวัดป่าโนนนิเวศน์ตามรอย“หลวงปู่มั่น”

ไทย-ลาวแห่เข้าวัดป่าโนนนิเวศน์ ตามรอย “หลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต” อาจารย์ใหญ่พระป่า ยูเนสโกยกเป็นบุคคลสำคัญของโลกปี 63 สาขาสันติภาพ เคยโปรดญาติโยมจำวัดที่นี่ 2 พรรษา อัฐิธาตุ-อัฐบริขาร-กุฏิ ยังอนุรักษ์ไว้สักการะ ทบทวนธรรมะที่สอน

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วัดป่าโนนนิเวศน์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ หลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต หรือพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เคยเดินทางมาปฏิบัติธรรม เผยแผ่พุทธศาสนาอยู่นานถึง 2 พรรษา เมื่อ UNESCO (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้หลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563 (20 ม.ค.63) เป็นบุคคลสำคัญของโลก ประจำวาระปี 2563-2564 สาขาสันติภาพ

ทำให้มีทั้งชาวไทย-ชาวลาว เดินทางมาที่นี่ เพราะหลวงปู่มั่นฯ เป็นพระเถรานุเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน ถือเป็นผู้นำกองทัพธรรมอย่างแท้จริง และพุทธศาสนิกชนชาวไทย ให้ความเคารพนับถือจวบจนถึงปัจจุบัน โดยที่วัดแห่งนี้ได้มีการอนุรักษ์พื้นที่ที่เคยเป็นกุฏิของหลวงปู่มั่น (ตามภาพ) จำลองตัวกฏิไว้เพื่อกราบไว้บูชา เป็นอนุสรณ์สถานให้ระลึกถึงพ่อแม่ครูอาจารย์ และยังได้ก่อสร้างอาคารวิหารหลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต หลวงปู่ภูมี จิตฺตธฺมโม ที่มีการเก็บรักษาเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่มั่นเอาไว้ในอาคาร

พระอธิการ ชวลิต กิจฺจสาโร เจ้าอาวาสวัดป่าโนนนิเวศน์ เปิดเผยว่า ในนามศิษยานุศิษย์ คณะสงฆ์ มีความรู้สึกปลื้มปิติ เป็นมหาบุญมหากุศลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหลวงปู่มั่นท่านได้ชื่อว่าเป็นอริยะสงฆ์องค์สำคัญที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ก็ว่าได้ มีบทบาทสำคัญเป็นแม่ทัพธรรมอย่างแท้จริง มีลูกศิษย์มากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระอริยะสงฆ์ทั้งนั้น เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมาวัฒนธรรม จ.อุดรธานี ได้จัดงานชาตกาลครบ 150 ปี หลวงปู่มั่นฯล่วงหน้าแล้ว แต่ทางวัดและลูกศิษย์จะจัดงานอีกครั้งในวันที่ 31 มกราคม 2563 เป็นงานหล่อรูปเหมือนหลวงปู่มั่นฯปางธุดงค์ ไปประดิษฐานไว้ในสวนธรรมที่จะจัดทำขึ้นใหม่ และหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนหลวงปู่มั่นฯจะนำไปไว้ในกุฏิจำลอง

“ วัดป่าโนนนิเวศน์สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2477 มีเนื้อที่ทั้งหมด 32 ไร่ 2 งาน โดยหลวงปู่มั่นฯ ท่านเคยมาพำนักอยู่ที่นี่เมื่อปี พ.ศ.2482 – 2483 เป็นเวลา 2 พรรษา จากประวัติทราบว่าเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์สมภรณ์ ได้เดินทางไปที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ นิมนต์หลวงปู่มั่นฯ อยากให้ท่านเดินทางมาที่อุดรธานี เพื่อโปรดญาติโยมบ้าง หลังจากนั้นหลวงปู่มั่นได้เดินทางไปที่วัดบวรฯ ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางมาที่อุดรธานีตามคำกราบเชิญของลูกศิษย์ โดยเลือกวัดป่าโนนนิเวศน์เป็นที่พำนักปฏิบัติธรรม เพราะที่แห่งนี้สมัยก่อนนั้นเป็นป่าทึบหนาแน่นบรรยากาศสงบร่มเย็น และอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก ”

พระอธิการ ชวลิต กิจฺจสาโร เจ้าอาวาสวัดป่าโนนนิเวศน์ เปิดเผยอีกว่า จากคำบอกเล่า ในช่วง 2 พรรษา หลวงปู่มั่นฯปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ออกบิณฑบาตโปรดญาติโยม และมีลูกศิษย์จากพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางมากราบไหว้หลวงปู่อยู่เป็นประจำ พอถึงเวลาหลวงปู่มั่นฯ ออกธุดงค์ปลีกวิเวกไปยังที่อื่น หลวงปู่ภูมี จิตฺตธฺมโม เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น ได้เล็งเห็นว่า กุฏิที่ท่านเคยพำนักควรจะอนุรักษ์ไว้ ให้ลูกศิษย์ญาติโยมได้กราบไหว้ ระลึกถึงหลักธรรมคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ และได้อนุรักษ์ไว้จนถึงปัจจุบัน ที่ตั้งเป็นพื้นที่จริงเป็นบริเวณจริง แต่ตัวกุฏิที่เป็นไม้ได้บูรณะมีแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดคือปี พ.ศ.2555

“ ส่วนอาคารวิหารหลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต หลวงปู่ภูมี จิตฺตธฺมโม ได้จัดสร้างขึ้นในยุคหลังเมื่อปี 2543 เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาอัฐิธาตุ รวมทั้งเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่มั่นฯ บางส่วน ครั้งที่ท่านได้มาพำนักที่แห่งนี้ และเก็บรักษาอัฐิธาตุของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ,หลวงปู่ภูมี จิตฺตธฺมโม เอาไว้เพื่อให้ลูกศิษย์พุทธศาสนิกชนเข้ามากราบไหว้บูชา ซึ่งเปิดให้เข้าทุกวันจากเช้าจนถึงเย็น ขออนุโมทนาบอกบุญท่านทั้งหลาย วันที่ 31 มกราคม 2563 จะเป็นงานหล่อรูปเหมือนหลวงปู่มั่นฯ ปางธุดงค์ ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ มีการเตรียมไม้จิกไว้ทำพิธีมหามงคล ระหว่างนี้ญาติโยมสามารถร่วมบูชาแผ่นทอง แท่งทอง เพื่อจัดสร้างรูปหล่อหลวงปู่มั่นฯ ปางธุดงค์ ได้ทุกวันที่วัดป่าโนนนิเวศน์ ”

พระอธิการ ชวลิต กิจฺจสาโร เจ้าอาวาสวัดป่าโนนนิเวศน์ กล่าวด้วยว่า หลังจาก UNESCO (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้หลวงปู่มั่น ภูริทฺตโตในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563 (20 ม.ค.63) เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำวาระปี 2563-2564 สาขาสันติภาพ ก็มีพุทธศาสนิกชนเดินทางมา กราบอัฐิธาตุ และอัฐบริขารหลวงปู่มั่นฯมากขึ้น โดยเฉพาะชาวลาวจัดรถมาเป็นคณะใหญ่….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments