วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมซ่อมอ่างฯน้ำปลดเสร็จปีแรกเก็บน้ำ 50%

ซ่อมอ่างฯน้ำปลดเสร็จปีแรกเก็บน้ำ 50%

ซ่อมเสร็จแล้ว “อ่าวห้วยน้ำปลด” อ.นายูง พื้นปลูกทุเรียน-ลองกอง-เงาะ ที่ถูกน้ำป่าพัดพัง ส.ค.63 รองนายกสุพัฒนพงษ์ ให้งบกลางมาซ่อม-เพิ่มประสิทธิภาพ 6.2 ล้าน แต่ยังมีปัญหาน้ำซึมเก็บน้ำไปก่อน 50 % ผ่านฝันให้ผู้รับเหมาเข้าแก้ไข

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำปลด (ตอนบน) บ.ก้อง ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ที่ปรึกษานายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี น.ส.ปภัสมน อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 10 พร้อมคณะ เดินทางติดตามโครงการซ่อมแซมและเพิ่มประสิทธิภาพ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำปลด (ตอนบน) โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำนายมงคล คูณหอม นายช่างชลประทานอาวุโส โครงการชลประทานอุดรธานี นายวีระพงษ์ โมราเดช นายก อบต.บ้านก้อง รายงานพร้อมตอบซักถาม และนำดูสภาพอ่างฯ

นายมงคล คูณหอม นายช่างชลประทานอาวุโส โครงการชลประทานอุดรธานี รายงานว่า อ่างฯห้วยน้ำปลดเป็นอ่างขนาดเล็ก เดิมมีความจุ 215,000 ลบม. จากพื้นที่รับน้ำฝน 7 ตร.กม. (ล้อม 3 ทิศทาง ด้วยภูซาง-ภูหลวง-ภูกระโจด) มีปริมาณน้ำท่ามากถึง 6.2 ล้าน ลบม. ต่อมาได้ถ่ายโอนให้ อบต.บ้านก้อง จนกระทั่งระหว่างวันที่ 3-14 ส.ค.63 เกิดพายุฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้ทำนบดินพังเสียหาย อบต.บ้านก้อง ได้ร้องขอให้จังหวัดอุดรธานีช่วยเหลือ ซึ่ง สนง.ชลประทานอุดรธานี เข้ามาควบคุมการซ่อมแซม ด้วย “งบกลาง” จากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี

“ มีผู้รับจ้างเข้ามาซ่อมแซมวงเงิน 6.42 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 27 % มีงานซ่อมแซมทำนบดิน , ปรับปรุงอาคารระบายน้ำ และก่อสร้างอาคารท่อส่งน้ำ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพความจุเป็น 250,000 ลบม. ดำเนินการแล้วเสร็จ เม.ย.65 เริ่มการเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้ แต่หลังจากเก็บกักน้ำในระดับสูงสุด พบว่ามีจุดรั่วซึมขนาดเล็ก 5 จุด บริเวณรอยต่อทำนบดินที่พัง น้ำที่ไหลออกมายังใสไม่มีการกัดเซาะ จึงลดระดับเก็บน้ำเหลือ 50 % ทำให้การรั่วซึมหายไป ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างแล้ว เพื่อตรวจติดตามและซ่อมแซม หลังจากพ้นฤดูฝนไปแล้ว โดยยังมีเงินประกันสัญญาอยู่พอซ่อมแซม ”

นายวีระพงษ์ โมราเดช นายก อบต.บ้านก้อง กล่าวว่า อ่างฯห้วยน้ำปลดมีภูเขาล้อม เป็นต้นน้ำของห้วยน้ำปลด ในฤดูแล้งจะมี “น้ำซับ” ไหลจากภูเขาลงมาในอ่างฯ ได้รับการสนับสนุนจาก “โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ส่งน้ำด้วยระบบท่อให้เกษตรกรแบ่งเป็น กลุ่มปลูกข้าวในฤดูฝน และฤดูแล้งปลูกข้าวนาปรัง ถั่วลิสง หรือพืชใช้น้ำน้อย ส่วนกลุ่มปลูกผลไม้ อาทิ เงาะ , ลองกอง และล่าสุดทุเรียน ได้ผลผลิตมีคุณภาพ 2-3 ปีแล้ว ทั้งสองกลุ่มได้ร่วมกันบริหารจัดการน้ำ

“ เมื่อทำนบดินขาดเกิดน้ำป่า ทำความเสียหายให้บ้านเรือน เลือกสวนไร่นาเป็นบริเวณกว้าง เกษตรกรไม่ได้ผลผลิตจากนาข้าว ในปีต่อมาการเกษตรต้องอาศัยน้ำฝน พื้นที่บางส่วนเปลี่ยนไปปลูกอ้อย และอื่น ๆ ขอบคุณนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นความเดือดร้อนชาวบ้าน อนุมัติงบกลางมาแก้ไขปัญหาทันที และยังเพิ่มประสิทธิภาพมีความจุมากขึ้น และมีอาคารท่อส่งน้ำ เชื่อมกับท่อส่งน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ใช้น้ำเริ่มคุยกันแล้ว และรู้ปัญหาการรั่วซึมทำนบดิน ในปีนี้จะเก็บกักน้ำได้เพียง 50 % ก็จะร่วมกันบริหารจัดการน้ำดีที่สุด ”

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ที่ปรึกษานายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ กล่าวยอมรับว่า “อ่างฯห้วยน้ำปลด” สอดรับกับภูมิประเทศมาก ยังสามารถจะพัฒนา เพิ่มปริมาฯณเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น อาจจะมีการขุดลอกอ่างฯ และแสดงความเห็นห่วงหลายประเด็น อาทิ การตั้งกลุ่มบริหารจัดการน้ำ ที่บางแห่งยังขาดความสามัคคี ทำให้ขาดความเข็มแข็ง , การดูแลรักษาความมั่นคงของอ่างฯ ชลประทานจะต้องเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง แนะนำวิธีดูแลบำรุงรักษาให้ยั่งยืน ก่อนส่งมอบอ่างฯกลับไปให้ อบต.บ้านก้อง ดูแลอีกครั้ง….

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ตำบลนายูง ตำบลนาแค ตำบลโนนทอง และตำบลบ้านก้อง อ.นายูง มีเกษตรกรปลูกทุเรียนพันธุ์ “หมอนทอง” รวมกว่า 240 ไร่ เก็บผลผลิตได้แล้ว 120 ไร่ ขณะนี้ยังมีผลผลิตเหลือเก็บอยู่ไม่มาก โดยผลผลิตมีจุดเด่น คือ เนื้อไม่เละ , รสชาติหวานมัน , กลิ่นไม่แรง และเปลือกบาง เกษตรกรยังขาดประสบการณ์ หากได้รับความรู้และความชำนาญมากขึ้น เชื่อว่าอนาคตทุเรียนอำเภอนายูงจะสดใส…..

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments