วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Google search engine
หน้าแรกการศึกษา“มหกรรมการอ่าน นิทานบ้านเฮา เรื่องเล่าพาไป” รวมตำนานพื้นบ้านอุดรฯ เป็นหนังสือเด็ก

“มหกรรมการอ่าน นิทานบ้านเฮา เรื่องเล่าพาไป” รวมตำนานพื้นบ้านอุดรฯ เป็นหนังสือเด็ก

ม.ราชภัฏอุดรธานี จับมือ เครือข่ายสถานศึกษา MOU “สร้างวัฒนธรรมการอ่านสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน”เพื่อสนับสนุนการผลิตสื่อส่งเสริมการอ่านให้แก่โรงเรียนในโครงการ พร้อมกำหนดจัดงาน “มหกรรมการอ่าน นิทานบ้านเฮา เรื่องเล่าพาไป” ให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ และสนุกกับการอ่าน 4-5 มิถุนายน 2565 ณ อาคารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดี มรภ.อุดรธานี , อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักสร้างสรรค์นิทานสำหรับเด็กและนักวิชาการอิสระ , ดร.อนันต์ พันนึก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารบุคลากรและนิติการ สพฐ. และ อาจารย์สุณิสา ดีนาง หัวหน้าโครงการส่งเสริมชุมชนรักการอ่านเพื่อการอ่านออก อ่านคล่อง เขียนได้ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมการอ่าน นิทานบ้านเฮา เรื่องเล่าพาไป” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2565 ก่อนลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน

ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดี กล่าวว่า มรภ.อุดรธานี ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการขับเคลื่อนการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็กในวัยเรียน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนดำเนินการผลิตสื่อวรรณกรรมพื้นถิ่น ส่งเสริม สนับสนุน การเรียนการสอน การอ่าน นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยให้โรงเรียนในเครือข่าย 36 โรง ในพื้นที่ จ.อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู มีส่วนร่วมตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ ร่วมรับประโยชน์ และร่วมติดตามประเมินผล

อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ กล่าวว่า สิ่งที่โครงการ ทำจะเปลี่ยนแปลงโลกของการอ่านได้ ซึ่งชุดนิทานบ้านเฮา เป็นการนำเรื่องราวเล่าขาน จากอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู รวมถึงตำนานในแต่ละท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก การนำเรื่องใกล้ตัวมาทำเป็นนิทาน เด็กๆ จะอ่านด้วยความเข้าใจ อ่านด้วยความภาคภูมิใจ จึงเป็นการอ่านสู่การสืบค้นและขยายผลไปสู่การอ่านเพื่อการเรียนรู้เรื่องไกลตัวในขั้นต่อไป เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอันจะนำไปสู่การเรียนรู้ในอนาคตเมื่อเขาเติบโตขึ้น

ดร.อนันต์ พันนึก กล่าวว่า การดำเนินการตามโครงการส่งเสริมชุมชนรักการอ่าน เพื่อการอ่านออก อ่านคล่อง เขียนได้ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในปีแรก พ.ศ. 2563  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษาเขต 1 (ในขณะที่บริหารอยู่) ได้มีโอกาสเข้าร่วม ได้ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนร่วมกิจกรรมในโครงการ  8 โรงเรียน พบว่า ครู ได้แนวคิดในจากการอบรมการสอนภาษาไทย ได้ผลิตสื่อส่งเสริมการอ่านนิทานพื้นถิ่น  ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น การจัดงานมหกรรมการอ่านที่จะมีขึ้น

จากที่ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ การอ่าน การเขียน ว่า “ถ้านักเรียนอ่านออก เขียนได้  จะสามารถใช้เป็นกุญแจในการเรียนวิชาใดๆ ก็ได้ แต่ถ้าเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็ไม่แตกต่างจากคนตาบอดที่มองไม่เห็น ประสิทธิภาพการเรียนรู้ก็จะไม่เกิด” ดังนั้นการร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ครูจะได้แนวคิด จากการร่วมลงมือทำ ครูจะเกิดไอเดีย เพื่อการต่อยอด ผู้บริหารและครูจะต้องมองไปที่เป้าหมายเดียวกันกับมหาวิทยาลัย คือการพัฒนาเด็กให้อ่านออก อ่านคล่อง เขียนได้ ตามวัตถุประสงค์โครงการฯ

อาจารย์สุณิสา ดีนาง กล่าวว่า “มหกรรมการอ่าน นิทานบ้านเฮา เรื่องเล่าพาไป” จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานนิทานพื้นถิ่น ซึ่งเป็นผลผลิตจากความร่วมมือร่วมใจของครู เขตพื้นที่การศึกษา และมหาวิทยาลัยฯ ด้วยความมุ่งมั่นส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้สนุกกับการอ่าน ซึ่งจะมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการ การเดินทางของนิทานพื้นถิ่น ตั้งแต่เริ่มต้น ในปี 2563 – ปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 38 เรื่อง รวมถึงหนังสือส่งเสริมการอ่าน ชุดดอกจานอ่านคำ 6 เล่ม

เวทีเสวนา ทำไมฉันต้องอ่าน ร่วมรับฟังการเสวนาจากนักอ่าน นักเขียน นักวาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาไทย และผู้ใช้การอ่านเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ที่จะชวนมากระตุกความคิดว่าทำไมต้องอ่านหนังสือ อ่านแล้วจะเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลกอย่างไร กิจกรรมเล่า เล่น : นิทานพาไป พาไปกิน พาไปเที่ยว พาไปเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ,กิจกรรมเรียน : อบรมก่อร่าง สร้างคำ เพื่อสนับสนุนครูให้ใช้ผลผลิตจากโครงการฯ ช่วยให้     เด็ก ๆ เริ่มต้นอ่านออก ในบรรยากาศอบอุ่น เหมือนอ่านนิทานอยู่ที่บ้านและที่โรงเรียน

โดยโครงการส่งเสริมชุมชนรักการอ่านเพื่อการอ่านออก อ่านคล่อง เขียนได้จะได้สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนในโครงการในการให้บริการวิชาการโดยการใช้สื่อส่งเสริมการอ่าน เพื่อพัฒนาทักษะสู่นิสัยรักการอ่าน และร่วมมือจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน  ตลอดจนพัฒนาสื่อส่งเสริมการอ่านในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อมุ่งเน้นทักษะและประสบการณ์ตามระยะเวลาและรูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments