อธิบดีกรมชลประทาน ว่าที่ปลัดกระทรวงเกษตร ประชุมสัญจรที่ชลประทาน เขต 5 อุดรธานี ยอมรับปีน้อยฝนน้อยกว่าปกติ ต้องเก็บน้ำทุกหยด บริหารจัดการให้ดี เฝ้าพายุพร้อมรับมือ 24 ชม.
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่สำนักงานชลประทานที่ 5 อุดรธานี ดร.ทองเปลว ทองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะเดินทางมาประชุมผู้บริหารกรมชลประทานสัญจร และร่วมงานคลินิกชลประทาน โดยที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SMART WATER OPERATION CENTER : SVOC05) มีการประชุมทางไกลกับโครงการชลประทานจังหวัด อ่างฯขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ติดตามสถานการณ์ฝนตกคืนที่ผ่านมา และรายงานสดจากพื้นที่ประสบอุทกภัย
ดร.ทองเปลว ทองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เป็นประธานเปิดและเช้าชมงาน “คลินิกชลประทาน” ด้วยความสนใจฟังคำอธิบาย และสอบถามรายละเอียด ซึ่งคลินิกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการแสดงนวัตกรรม และผลงานของโครงการชลประทานในพื้นที่ และความสำเร็จของประชาชนร่วมโครงการ อาทิ นวัตกรรมนำจอกหูหนูยักษ์มาเป็นวัสดุปลูกผักปลอดภัย ที่อ่างฯกุดลิงง้อ อ.เมือง อุดรธานี ส่วนที่สองคือนวัตกรรมใหม่ๆในส่วนกลาง ให้โครงการชลประทานในภุมิภาคสนใจนำไปปรับใช้
ดร.ทองเปลว ทองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์ว่า การมาประชุมในลักษณะนี้ตั้งเป้าว่า การทำงานในพื้นที่ต้องแก้ปัญหาให้ทันท่วงที เดิมปัญหากว่าถึงกรมมันหลายขั้นหลายตอน เมื่อมาประชุมในพื้นที่ก็สามารถสั่งการแก้ไขปัญหาได้ทันที และเมื่อมาทั้งทีก็ได้ให้ ผอ.สำนัก – กอง –ส่วนฯ นำนวัตกรรม และความเจริญก้าวหน้า ในมิติต่างๆจากส่วนกลาง มานำเสนอเมื่อพื้นที่เห็น ว่าอยากได้เครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้ ก็สามารถตัดสินใจได้เลย เมื่อได้ดูและเปลี่ยนกับ 5 ครั้งก่อน พบว่ามีวิวัฒนาการไปมาก มีการขยายออกไปยังเครือข่าย เหนือความคาดหมาย
“ สถานการณ์น้ำวันนี้รับแจ้งมีน้ำท่วมพื้นที่เกษตร อ.พังโคน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ราว 800 ไร่ น้องๆได้เข้าพื้นที่เข้าแก้ไขตั้งแต่เมื่อคืน เข้าบอกว่าจะแก้ไขได้ใน 5 วัน ผมทิ้งท้ายว่าเร็วกว่านั้นได้ไหม อยากได้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรจะส่งไปให้ ส่วนเรื่องฝนตกลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตชลประทานที่ 5 ที่ดีหน่อยก็บริเวณริมแม่น้ำโขง ได้มีคำสั่งให้เก็บน้ำให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอ่างฯขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก-จิ๋ว พร้อมการบริหารจัดการน้ำให้ดี ขณะหลายพื้นที่ยังน่าห่วง เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำ 15% ต่ำกว่าปีที่แล้วมี 21% แต่ก็ไม่ได้ลืมพายุจะเข้ามาเราเตรียมพร้อม 24 ชม. ”
อธิบดีกรมชลประทาน ตอบข้อซักถามว่า เมื่อวานได้ไปติดตามโครงการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง และสถานีสูบน้ำแดนเมือง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 9 ปี (61-69) มีกิจกรรมหลักอยู่ 5 อย่าง คือ สถานีสูบน้ำ , คันกั้นน้ำ , ทำประตู , อาคาร และอื่นๆ แผนงานถึงวันนี้ 3.4% แต่เราทำได้เพียง 2.5% แต่ที่สถานีสูบน้ำแดนเมืองต่ำกว่าแผน 13% ตามแผน 35 % เราทำได้ 22% ที่ติดปัญหาคือการขอใช้พื้นที่จากกรมทางหลวง อยู่ระหว่างการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง สองกรมฯประสานงานใกล้ชิด และสถานการณ์โควิด-19 กระทบกับการประดิษฐ์และการขนย้าย แม้จะล่าช้ากว่าแผนก็ไม่น่าห่วง ได้สั่งให้เร่งสปีดขึ้นมาแล้ว
ดร.ทองเปลว ทองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ตอบคำถามเรื่องวัชพืชลอยน้ำด้วยว่า ทางน้ำทั่วประเทศมี 5 แสน กม. ชลประทานดูแล 10% ขณะนี้เราทำได้ 90% ส่วนที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ผักตบชวา หรือจอกหูหนูยักษ์ ที่อ่างฯห้วยหลวง และอ่างฯกุดลิงง้อ เขาเก็บแล้วเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น หลักที่ให้ไว้คือ เก็บให้มาก เก็บบ่อยๆ และเก็บดีๆ ให้ทันกับการเขยายตัว ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญ เราได้ใช้ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม งานวิจัยต่างๆ อย่างเช่น ทุ่นลอยน้ำจากยางพารา กันไม่ให้วัชพืชมาที่ประตูระบายน้ำ , เรือเก็บวัชพืชขนาดเล็ก , สารชีวภาพกำจัด , การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และการทำเอ็มโอยู.กับท้องถิ่นที่ปทุมธานี….