สรุปศึกษาแผนแม่บทพัฒนา ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง เสนอ 5 แผนงาน 1.7 หมื่นล้านบาท เก็บน้ำเพิ่ม 103 ล้าน ลบม.
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่โรงแรมนภาลัย เขตเทศบาลนครอุดรธานี กรมชลประทาน จัดให้มีการประชุมปัจฉินนิเทศโครงการ “ศึกษาความเหมาะสมและการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จ.อุดรธานี มีนายสุรชาติ มาลาศรี ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ชี้แจงที่มาโครงการและเป้าหมาย มีนายวุฒินนท์ คำเตย ผู้จัดการโครงการฯ ชี้แจงแผนงานโครงการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชน ในพื้นที่โครงการร่วมรับฟัง
ที่ประชุมชี้แจงความเป็นมาว่า รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ “พัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง” วงเงินมากกว่า 60,000 ล้านบาท ทำให้ภาคเอกชนเสนอผ่านที่ประชุม กรอ. และเสนอต่อการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์ และ ครม.เห็นชอบให้ทำการศึกษาฯ แต่ที่ผ่านมามีสถานการณ์ “โควิด-19” ทำให้การศึกษาฯเกิดอุปสรรค เกิดความล่าช้าไป เมื่อสถานการณ์คลีคลาย ได้ทำการศึกษาฯตามขั้นตอน จนมาถึงขั้นตอนสุดท้ายในวันนี้
นายวุฒินนท์ คำเตย ผู้จัดการโครงการฯ ชี้แจงว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ระยะทาง 148 กม. ตั้งแต่พื้นต้นน้ำ-ประตูระบายน้ำ (ปตร.) สามพร้าว อ.เมือง อุดรธานี มีพื้นที่รับน้ำ 1,970 ตร.กม. หรือ 1.23 ล้านไร่ รองรับปริมาณน้ำ………(มหาศาล) แม้จะมีโครงการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง ก็ยังจะเกิดปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ในพื้นที่ตอนบนและตอนกลาง แม้จะมีอ่างฯใหญ่-กลาง-เล็ก รับน้ำไว้ได้ 165.4 ล้าน ลบม.แล้วก็ตาม
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานมีแผนงานแก้ไข 319 โครงการ แยกเป็นของกรมชลประทาน 175 โครงการ , กรมทรัพยากรน้ำ 18 โครงการ , กรมโยธาธิการ 10 โครงการ และองค์กรปกครองท้องถิ่น หรืออื่น ๆ อีก 116 โครงการ แต่การศึกษาฯครั้งนี้ได้เสนอแผนงาน 16 โครงการ เพื่อเก็บกักน้ำไปเพิ่มอีก 103.36 ล้าน ลบม. ซึ่งจะใช้งบประมาณรวมมากกว่า 17,104.39 ล้านบาท โดยเสนอเร่งดำเนินโครงการเร่งด่วน
1.โครงการฝายบ้านกุดหมากไฟ ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน (น้ำท่า) 22.9 ล้าน ลบม. จะสร้างฝายคอนกรีตสูง 2.5 ม. ยาว 20 ม. มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 45.79 ลบม./วินาที สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 8,399 ไร่
2.โครงการอ่างฯขอนยูงน้อย อ.กุดจับ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเชียง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน (น้ำท่า) 9.96 ล้าน ลบม. สร้างเขื่อนดินสูง 7 เมตร ยาว 884 เมตร สร้างอาคารควบคุมน้ำ ทำให้เก็บน้ำได้ 4.38 ล้าน ลบม. พร้อม เกิดพื้นที่ชลประทาน 6,789 ไร่
3.โครงการประตูน้ำห้วยเชียง 2 บ.ดงธาตุ ต.กุดจับ อ.กุดจับ สร้างประตูระบายน้ำ 2 บาน กว้าง 6 เมตร สูง 4.5 เมตร เกิดพื้นที่ชลประทาน 1,308 ไร่
4.โครงการพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำ ต.น้ำพ่น อ.หนองวัวซอ จากประชาชนไม่เห็นด้วยกับแผนงานสร้าง “อ่างฯห้วยยางล่าง” บริเวณบ้านหนองแซงสร้อย เพราะเมื่อ 48 ปีก่อน ประชาชนบริเวณโครงการ เคยถูกย้ายจากการสร้างอ่างฯห้วยหลวงมาแล้ว จึงต้องยุติโครงการไป ชาวบ้านเสนอให้ดำเนินการ 3 ส่วน คือ
4.1 สร้างอ่างฯหนองแซงสร้อย 1 ได้ความจุ 0.54 ล้าน
4.2 สร้างอ่างฯหนองแซงสร้อย 2 ได้ความจุ 0.99 ล้าน
4.3 ขุดลอกอ่างฯห้วยหลวง
4.4 ผู้ศึกษาเสนอสร้างประตูระบายน้ำห้วยยางล่าง ประตูระบายน้ำแบบบานตรง 2 บาน กว้าง 4 เมตร สูง 3 เมตร ซึ่งน้ำท่าไหลผ่าน 8.08 ล้าน ลบม. จะมีอัตราการไหล 18.55 ลบม./วินาที
5.โครงการบริหารจัดการน้ำ ประตูน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง (ระบายน้ำหลาก-เก็บกักช่วงปลายฝน-จัดการปัญหาคุณภาพน้ำ)
5.1 ฝายบ้านสามพร้าวยาว 60 ม. สร้างปี 2533 ซ่อมแซมปี 47
5.2 ประตูน้ำบ้านสามพร้าว 5 บาน กว้าง 4 ม. สูง 3.80 ม. สร้างปี 47
นายสุรชาติ มาลาศรี ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวงสำคัญต่ออุดรธานี น้ำส่วนใหญ่ไหลลงน้ำโขง ที่เก็บไว้มีไม่มากนัก เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนต่อเนื่อง และขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง มีการก่อสร้างอ่างฯใหญ่-กลาง-เล็ก จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 43 และ 44 กรมชลประทานเข้ามาแก้ไข สร้างคลองระบายน้ำฝั่งตะวันตก และตะวันออก ทำให้น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเบาบางลง แต่ปัญน้ำล้นตลิ่งยังเกิดเป็นระยะ
“ การศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-กลาง ไม่สามารถไปสร้างอ่างฯขนาดใหญ่ได้แล้ว จึงจะต้องสร้างอ่างฯขนาดที่เล็กลงมา โดยให้เพิ่มจำนวนแห่งขึ้น จึงจะสามารถเก็บน้ำให้มากขึ้นได้ และการใช้วิธีบริหารจัดการน้ำมาช่วย ไม่ให้น้ำไหลล้นตลิ่งออกมาท่วม และสามารถเก็บกักน้ำไปใช้อุปโภค บริโภค และการเกษตรได้ เมื่อการศึกษาฯเสร็จสมบูรณ์ ก็จะบรรจุเข้าแผนพัฒนาของกรมชลประทานต่อไป ”