วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมขยะติดเชื้ออุดรฯตกค้าง100ตันขน-เผาไม่ทัน

ขยะติดเชื้ออุดรฯตกค้าง100ตันขน-เผาไม่ทัน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมเวสสุวัณ ชั้น 3 สนง.เทศบาลนครอุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ โดยมีนายวรงค์ คลังเงิน ท้องถิ่น จ.อุดรธานี นายธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศบาลนครอุดรธานี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และผู้อำนวยการ หัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องจาก สนง.เขตสุขภาพที่ 8 สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี เข้าร่วมการประชุมฯ

ที่ประชุมรายงานสรุปข้อมูลว่า เตาเผาขยะติดเชื้อ ทน.อุดรธานี สามารถกำจัดได้วันละ 7.2 ตัน มีต้นทุนกิโลกรัม 11.16 บาท หรือปีละ 6 ล้านบาท ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ ปัจจุบันมีรถจัดเก็บขยะติดเชื้อ 5 คัน ก่อนหน้านี้ได้ให้บริการจังหวัดข้างเคียงด้วย แต่พอวิกฤติโควิด-19 ได้สั่งระงับบริการพื้นที่อื่น เนื่องจากมีขยะติดเชื้อในพื้นที่เป็นจำนวนมากและกำจัดไม่ทัน ต้องรับภาระกำจัดสูงถึงวันละ 8- 9 ตันต่อวัน จนเกิดการสะสมในพื้นที่บ่อขยะมากกว่า 100 ตัน

ทน.อุดรธานี ต้องกำจัดขยะติดเชื้อ จากโรงพยาบาล , โรงพยาบาลสนาม , สถานที่กักตัว ปัญหาที่เกิดขึ้นรถจัดเก็บขยะไม่เพียงพอ การเดินทางไปรับขยะจากต่างอำเภอมีสภาพรถขยะเต็มก่อนถึงเป้าหมาย สภาพแต่ละพื้นที่มีสภาพขยะติดเชื้อสะสมเหมือนกัน ถังรองรับมูลฝอยติดเชื้อไม่เพียงพอ ใช้ระบบแลกถังไม่ได้ ต้องจัดแบบบรรจุถุง เพื่อเพิ่มปริมาณการจัดเก็บในแต่ละรอบ ถุงขยะและถังขยะติดเชื้อไม่เพียงพอ ห้องเย็นเก็บขยะติดเชื้อแบบควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส (Chilled Room) ปัจจุบันมี 5 ห้อง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจัดเก็บ ต้องกองเก็บภายนอก

สภาพปัจจุบันมีขยะติดเชื้อรายวัน ขยะติดเชื้อปกติ สถานพยาบาล วันละ 2,346.8 กก. รพ.สนาม 1,254.86 กก. ศูนย์กักตัว (LQ) 188.66 กก. เฉลี่ย 3.79 ตันต่อวัน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดขยะติดเชื้อดังนี้ สถานพยาบาลทั่วไป local quarantine อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง hospitel / community isolation 18 แห่ง และจากทีมปฏิบัติการณ์เชิงรุกอีก 3,000 คน ต่อวัน จากการวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ของอุดรธานี พบว่า จะเกิดขยะติดเชื้อขึ้น 3.5 กก.ต่อคนต่อวัน หากมีปริมาณผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานทั้งสิ้น 3,815 คน จะมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้นวันละประมาณ 13.5 ตัน

นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า จะหาแนวทางการสร้างจุดพักคอย ขยะติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ ให้ต้นทางคัดแยกขยะติดเชื้อ ลดปริมาณขยะลงให้ได้มากที่สุด รวมถึงการรวบรวม บรรจุ ให้มีพื้นที่น้อยที่สุด การฝังกลบหรือหมัก ขยะจุลินทรีย์ ขยะเปียก เศษอาหารในพื้นที่ และการก่อสร้างที่เผากำจัดในพื้นที่ต้นทางเองโดยเฉพาะ อาจจะเป็นการก่อปูนหรือใช้ถังน้ำมันมาดัดแปลง ทั้งหมดคือแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาที่จะสามารถทำได้เร็วที่สุด และจะนำเข้าหารือกับคณะกรรมการควบคุมโรค จ.อุดรธานี ในครั้งถัดไป

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments