วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
Google search engine
หน้าแรกอาชญากรรมตร.ไซเบอร์ยึดทรัพย์เครือข่ายฟอกเงินแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 90 ล้าน

ตร.ไซเบอร์ยึดทรัพย์เครือข่ายฟอกเงินแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 90 ล้าน

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่สถานตำรวจทางหลวงจังหวัดอุดรธานี บ้านข้าวสาร ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง รอง ผบช.สอท.พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 พล.ต.ต.ณัฐพร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จ.อุดรธานี นายสมชัย พลายด้วง  ผอ.กองคดี 5 ปปง. ตำรวจทางหลวง ร่วมกันแถลง ปฎิบัติการปิดล้อมตรวจค้นยึดทรัพย์เครือข่าย “ฟอกเงินหรือสนับสนุนการฟอกเงิน” กลุ่มเชื่อมโยงเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่ง

พร้อมของกลาง รถยนต์เก๋งยี่ห้อ Porsche สีดำ ทะเบียนป้ายแดง ฌ 5583 กรุงเทพมหานคร รถยนต์เก๋งยี่ห้อ Mercedes-Benz สีดำ หมายเลขทะเบียน 4ขญ 5605 กรุงเทพมหานคร จักรยานยนต์ยี่ห้อ Harley-Davidson สีดำ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เงินสด 5 แสนบาท เครื่องเพชร นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า แบรนด์เนม  สมุดบัญชีเงินฝาก บ้านและที่ดิน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 90 ล้าน

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. เปิดเผยว่า ได้มีประชาชนกลุ่มผู้เสียหายยื่นร้องเรียนและขอความช่วยเหลือไปยัง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ซึ่งได้รับความเสียหายจากกลุ่มขบวนการ “แก็งคอลเซ็นเตอร์” แอบอ้างเป็นบริษัทขนส่ง มีจำนวนผู้เสียหายลงชื่อเข้าร้องเรียนกว่า 166 ราย ความเสียหายประมาณ 90 ล้านบาท โดยเกิดเหตุต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องหลายท้องที่ทั่วประเทศ โดย ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.)  เป็นหน่วยงานในการสืบสวนขยายผลเพื่อสืบทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการดังกล่าว อีกทั้งกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่ามีการกระทำการอันเป็นการสนับสนุนการฟอกเงิน

จากการสืบสวนพบว่า มีกลุ่มบุคคลที่ความเกี่ยวข้องทางการเงิน จากบุคคลที่ได้รับจ้างเปิดบัญชี (บัญชีม้า) ให้กลุ่มขบวนการมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่อเหตุ ซึ่งเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่รับจ้างเปิดบัญชี ให้กับกลุ่มแก็งค์ดังกล่าวในฐานความผิด “สนับสนุนการกระทำความผิดในความผิดฐานฟอกเงิน” ไปก่อนแล้ว และจากการขยายผล เส้นทางทางการเงินพบความเชื่อมโยงไปยังบุคคลต่างๆอีกหลายราย ทั้งในส่วนของ บุคคลผู้ทำหน้าที่ตะเวนกดเงินรับผลประโยชน์จากบัญชีผู้ต้องหา

อีกทั้งพบพยานหลักฐานและพฤติการณ์ของกลุ่ม ที่เป็นนายหน้าจ้างให้เปิดบัญชีเพื่อนำมาใช้ในการปกปิด อำพราง ธุรกรรมทางการเงินและทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ยังพบว่ามีอยู่ในการครอบครองอีกหลายรายการ อันน่าเชื่อว่า เป็น “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเพื่อประโยชน์ในการแสวงหาพยานหลักฐานทางคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาเข้าทำการตรวจค้นบุคคลเป้าหมาย 10 ราย ใน จ.อุดรธานี รวม 6 จุด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยง และดำเนินการตรวจยึด / อายัด ทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อจะ ได้นำส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินต่อไป

 

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการต่อไปนั้น ทางกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะได้นำพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจค้น รวบรวมเพื่อพิสูจน์ทราบความผิดทางอาญาของกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงที่เข้าตรวจค้น ในความผิดฐาน “ร่วมกันฟอกเงินหรือร่วมกันสนับสนุนฟอกเงิน”นอกจากการดำเนินการพิสูจน์ทราบทางอาญาแล้วนั้น จุดมุ่งหมายอันเป็นสำคัญของการดำเนินการบูรณาการร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นในครั้งนี้นั้น กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ยังจะร่วมกันขยายผลสืบทรัพย์เพื่อคืนให้กลุ่มผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อน

โดยในการดำเนินการส่วนนี้นั้น กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้รวบรวมรายชื่อผู้เสียหาย พร้อมรายละเอียดความเสียหาย ประสานให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไว้ในเบื้องต้น ซึ่งหากภายหลังบุคคลตามที่ถูกตรวจยืด / อายัด ทรัพย์สิน ไม่สามารถนำพิสูจน์ถึงแหล่งที่มาหรือพบพยานหลักฐานแจ้งชัดว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการะทำความผิดมูลฐานฟอกเงินหรือสนับสนุนการฟอกเงิน ทรัพย์ดังกล่าวก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดินหรือเฉลี่ยคืนผู้เสียหายตามกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการรับจ้างเปิดบัญชีม้า และซิมม้า เพื่อให้กลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้ ปัจจุบันได้มี พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 มีนาคม 2566 ซึ่งมีบทกำหนดโทษผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชี เปิดเบอโทรศัพท์ บัตรอิเล็กทรอนิก “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนใช้ พรก. เราได้รับเรื่องผ่านทางออนไลน์ประมาณเดือนละ 800 ราย หลังจากนั้นจำนวนการแจ้งก็ลดลงเหลือเดือนละ 660 ราย ”

 

เรื่องนี้ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญมาก ท่านลงมาตรวจสอบด้วยตัวเองทุกสัปดาห์ และกำชับให้เร่งกวาดล้าง บัญชีม้า และซิมม้า และหากพบพยานหลักฐานว่าบัญชีที่รับจ้างเปิดให้กลุ่มมิจฉาชีพนั้น ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงินดังเช่นกรณีที่ได้มีการขยายผลนี้บุคคลดังกล่าวอาจต้องถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน “สนับสนุนการกระทำความผิดในความผิดฐานฟอกเงิน” อีกข้อหาหนึ่ง ซึ่งจะต้องรับโทษเท่ากับตัวการคือ “จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 11 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” ผบช.สอท.กล่าวในที่สุด

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments