วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Google search engine
หน้าแรกท้องถิ่นแก้โรงยางเหม็น“หนองนาคำโมเดล”คืบ 80%

แก้โรงยางเหม็น“หนองนาคำโมเดล”คืบ 80%

“หนองนาคำโมเดล” แก้โรงยางยักษ์เหม็นด้วย 3 ฝ่าย รง.-รัฐ-ชาวบ้าน กลิ่นลดความพึงพอใจเพิ่ม สามารถนำไปใช้พื้นที่อื่นได้ จับตาการบังคับใช้มาตรฐานกลิ่นโรงยาง และมาตรฐานกลิ่นสาธารณสุข ช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาโรงงานยางแท่ง 2 โรง ของ บ.ศรีตรัง แองโกอินดัสทรี จก.(มหาชน) และ บ.วงศ์บัณฑิต จก. ถ.นิตโย ต.หนองนาคำ อ.เมือง อุดรธานี ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน โดยในช่วงเช้าพบกับชาวบ้านที่ ห้องประชุม ทต.หนองบัว อ.เมืองอุดรธานี

ในช่วงบ่ายเข้าประชุมที่ รง.ศรีตรังฯ ร่วมกับนายปราโมทย์ ธัญญะพืช รอง ผวจ.อุดรธานี ที่ศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , อบต.หนองนาคำ , คณะทำงาน , นักวิชาการ มรภ.อุดรธานี และนางกิตติชา ธานีเนียม หรือ “ครูเตี้ย” นำคณะตัวแทนชาวบ้าน เข้าร่วมประชุม โดยมีผู้จัดการของ รง.ยางแท่งศรีตรังฯ และ รง.ยางแท่งวงษ์บัณฑิตฯ มาชี้แจงและตอบข้อซักถาม

ผู้จัดการโรงงานยางแท่งทั้ง 2 โรง ชี้แจงคล้ายกันว่า โรงงานแก้ไขปัญหามาตลอด ทั้งจากคำแนะนำของราชการ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ โดยทำตามข้อตกลง MOU รับซื้อยางเครฟ และยางหมาด 70 % , เก็บกองยางในระบบปิด , ใช้ อีเอ็ม.พ่นลดกลิ่น , ลดสต็อควัตถุดิบ รายงานปริมาณทุกวันที่ 5 ของเดือน , กำจัดกลิ่นผสมผสาน (พ่นละลองน้ำ-จุลินทรีย์) และปลายปล่องกดลงน้ำ , ปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสีย , ปลูกต้นไม้รอบโรงงาน ซึ่งขณะนี้โรงงานลดกำลังผลิต

ขณะที่ภาครัฐรายงานว่า เรื่องมาตรฐานกลิ่นโรงยาง ที่ปากปล่องและริมรั้ว มีผลตามกฎหมายไปเมื่อ เม.ย.63 กรมควบคุมมลพิษยังไม่มาตรวจ ติดปัญหาการระบาดโควิค-19 มีแผนเข้ามาตรวจในช่วงฤดูหนาวนี้ (ช่วงเหม็นมาก) , อบต.หนองนาคำ ได้ออกข้อบัญญัติรองรับโรงงานยาง และเหตุเดือดร้อนรำคานแล้วเมื่อ 16 สิงหาคม 2563 สามารถนำเครื่อง “นาเซอร์ เรเจอร์” ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณะสุข มาตรวจวัดได้แล้ว

นางกิตติชา ธานีเนียม หรือ “ครูเตี้ย” กล่าวว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมามากกว่า 7 ปี ร้องเรียนในพื้นที่ก็แก้ไขให้ไม่ได้ ตัดสินใจพากันไปร้องเรียนนายกฯ ช่วงเดินทางมาราชการที่ จ.หนองบัวลำภู ท่านนายกฯได้ส่งผู้ตรวจราชการพิเศษ มาติดตามแก้ไขเรื่องนี้รวมเวลากว่า 2 ปี 4 เดือน การแก้ไขมาความคืบหน้าน่าพอใจ ความเดือดร้อนลดลงตามลำดับ วันนี้ยังพบมีกลิ่นเป็นครั้งคราว 10-30 นาที อยากจะให้โรงงานทั้ง 2 โรง ร่วมแก้ไขต่ออีกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะฤดูหนาวที่กำลังจะถึง

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรามาแก้ปัญหาใช้ “โมเดลการมีส่วนร่วม” โดยนำโรงงานต้นเหตุ , จนท.เกี่ยวข้อง ทั้งภูมิภาคและส่วนกลาง มาหารือร่วมกันกับชาวบ้านที่เดือดร้อน เมื่อพูดคุยเราพบปัญหาว่า “น้ำเซรั่ม” ที่ติดมากับยางคือสาเหตุ จึงใช้แนวทางแก้ไขเป็นข้อตกลง (MOU) ให้โรงงานรับซื้อยางความชื้นต่ำ ปัญหาลดลงมาในระดับหนึ่ง จากนั้นได้พยายามสร้างมาตรฐานกลิ่น ที่ผ่านมาไม่เคยกำหนดไว้ จนมีการออกมาตรฐานกลิ่นที่ปล่อง กลิ่นที่ริมรั้ว ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญมาตัดสินได้ว่า โรงงานมีมาตรฐานหรือไม่ ตรงไหนบอกว่าเหม็น จะไม่ใช่เพียงความรู้สึก

“ เมื่อเช้าคุยกับชาวบ้านเขาบอกว่า นับตั้งแต่ 7 ปีที่ผ่านมาที่เดือดร้อน และเมื่อ 2 ปี 4 เดือนที่ สนง.ปลัดสำนักนายกฯ รับมอบหมายจากท่านนายกฯมาดู วันนั้นเราเข้ามาการแก้ไขอยู่ที่ 50 % มาถึงวันนี้ความพึงพอใจอยู่ที่ 80 % มันดีขึ้น 30 % เราตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า จะเพิ่มขึ้นอีก 10 % จึงมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยยึดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรฐานกลิ่นของโรงงานยาง และมาตรฐานกลิ่นเดือดร้อนรำคาญ ”

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามต่อว่า เมื่อมีการแจ้งกลิ่นเหม็นจะมีขั้นตอนอย่างไร หน่วยงานไหนจะต้องทำอะไร ผลการตรวจเป็นวิทยาศาสตร์ มีมาตรฐานกำกับดูแล จะนำมาแก้ไขปัญหาได้ หาก “หนองนาคำโมเดล” สามารถแก้ไขปัญหาโรงงานยางเหม็นที่นี่ได้ จะสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะโรงงานยาง แต่หมายถึงในทุกเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ได้รายงานให้นายกทราบทุกครั้ง และเห็นชอบกับการทำงานตลอดมา….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments