วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมอุดรไม่พบ ASF แต่มี PRRS ทำหมูตาย 4.8 พันตัว

อุดรไม่พบ ASF แต่มี PRRS ทำหมูตาย 4.8 พันตัว

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการณ์อุดรธานี ได้มอบหมายให้นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี รายงานสถานการณ์ระบาด ของโรคติดต่อในสุกร พร้อมข้อสั่งการและข้อเสนอแนะ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในห้องประชุม และนายอำเภอฯที่ร่วมประชุมทางไกลจาก 20 อำเภอ

นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี ชี้แจงว่า อุดรธานีมีฟาร์มเลี้ยงสุกรทั้ง 20 อำเภอ เป็นฟาร์มระบบปิด (รายใหญ่-กลาง) 213 ราย เป็นฟาร์มระบบเปิด (รายย่อย) 3,500 ราย ผลิตสุกรออกสู่ตลาดปีละ 340,000 ตัว ที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจพบ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (AFRICAN SWINE FEVER) ที่มีการตรวจพบครั้งแรกที่ จ.นครปฐม โดยมีสุกรในฟาร์มรายยอยล้มตาย ตรวจพบว่าเป็นโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร หรือ PRRS (Porcine reproductive and respiratory syndrome)

“ โรคระบาดในสุกรมีอยู่หลายโรค สำหรับที่ตรวจพบในอุดรธานีเป็นโรค PRRS พบใน 14 อำเภอ คือ อำเภอเมือง , กุดจับ , พิบูลย์รักษ์ , น้ำโสม , เพ็ญ , บ้านดุง , ทุ่งฝน , ประจักษ์ศิลปาคม , กุมภวาปี , นายูง , กู่แก้ว , โนนสะอาด , ศรีธาตุ และหนองหาน ช่วงแรกมีรายงาน 148 ราย สุกร 4,800 ตัว วงเงินชดเชย 17.376 ล้านบาท จัดส่งเอกสารไปยังกรมปศุสัตว์แล้ว ทั้งหมดเป็นเกษตรกรรายย่อย เป็นการเลี้ยงด้วยระบบเปิด ”

นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี ชี้แจงต่อว่า โรค PRRS มีวัคซีนป้องกัน หากเกิดการระบาดไม่รุนแรง โรค ASF ที่ยังไม่มีวัคซีน และการระบาดรุนแรง หลักการควบคุมโรค มีลักษณะคล้ายกัน จึงสามารถทำควบคู่กันไป ด้วยมาตรการเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ ให้ความรู้เพื่อปรับระบบการเลี้ยง “กู๊ด ฟาร์มมิ่ง เมเนจเม้นท์” ให้สามารถป้องกันโรคได้ และนำเกษตรกรไปสู่ การป้องกันโรคที่ดี-เหมาะสม พัฒนาระบบเป็นฟาร์มมาตรฐาน

ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี กล่าวต่อว่า ตลอดจนการให้ความรู้เชิงรุก ควบคู่ไปกับการตรวจสอบ สุกรป่วยตายผิดปกติ และควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยมีหนังสือแจ้งไปทุกอำเภอ และเกษตรกรแล้ว หากมีสุกรตายผิดปกติ หรือการเคลื่อนย้ายสุกร การนำลูกสุกรมาขุน ให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอก่อน เพื่อตรวจหาเชื้อไม่ให้เล็ดรอดเข้ามา , ขายสุกรออกเป็นชุด ๆ , เตรียมคอกโรงเรือนให้สะอาด , อาหารสุกรมาจากร้านที่เชื่อถือ หากมีการนำเศษอาหารมาเลี้ยง ขอให้นำมาต้มให้สุกก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ

นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี ตอบคำถามด้วยว่า เมื่อราคาสุกรชำแหละสูงขึ้น อาจจะมีผู้มาเลี้ยงสุกรแบบรายย่อย ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะแพร่โรคได้ง่าย น่าจะหันมาเลี้ยงสัตว์อื่น ทดแทนโปรตีนจากสุกรที่หายไป อาทิ เลี้ยงแพะ , ไก่พื้นบ้าน , ไก่สามสายพันธุ์ , จิ้งหรีด หรือแม้กระทั่งปลา ที่มีแผนจะเข้ามาส่งเสริมอยู่แล้ว

ขณะที่นายอำเภอที่เคยรับราชการจังหวัดชายแดน แสดงความเป็นห่วงว่า โรคระบาดสุกรในประเทศเพื่อนบ้าน มีการระบาดมานานแล้ว จังหวัดชายแดนเข้มงานมาก ห้ามนำเข้ารวมทั้งผลิตภัณฑ์ เพราะเชื้อจะอยู่ได้นาน ขณะที่อุดรธานีอยู่ไม่ห่างจากชายแดน น่าจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้ด้วย รวมไปถึงมีความเป็นห่วง ชาวบ้านที่ซื้อลูกหมูมาเลี้ยง ตอนเอามาใหม่ๆก้แข้งแรงดี แต่พอเลี้ยงไปได้กว่า 2 เดือน หมูเริ่มยะยอยตาย จึงน่าจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้

นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ราคาเนื้อสุกรชำแหละของอุดรธานี ขยับราคาขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย อยู่ในระดับ กก.ละ 180-200 บาท แตกต่างจากบางจังหวัดที่สูงกว่านี้ ส่วนโครงการ “หมูพาณิชย์” กก.ละ 150 บาท มีจำหน่ายที่ตลาดโพศรี ถ.โพศรี ทน.อุดรธานี 2 แผงๆละ 100 กก./วัน ซื้อได้รายละ 1 กก.เท่านั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ก็ได้รับการตอบรับดีทุกวัน …..

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments