วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
Google search engine
หน้าแรกธุรกิจกนอ.ปลื้มนิคมฯแรกแห่งอีสานคืบหน้าเกินครึ่ง

กนอ.ปลื้มนิคมฯแรกแห่งอีสานคืบหน้าเกินครึ่ง

ผู้ว่าฯ กนอ. นำทีมดูนิคมอุตฯอุดรธานี การเตรียมสิ่งสาธารณูปโภค 50 % ตั้งเป้าปีหน้านักลงทุนเข้าจองพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะผู้บริหารฯ และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ในความร่วมมือของ กนอ. กับ บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก. ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยมีนางอรพิณ พิพัฒน์วิไลกุล รองประธานฯ , นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการ ผจก. บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก. นายสวาท ธีระรัตนนุกูรชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี นำคณะลงพื้นที่

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี พื้นที่ 2,170 ไร่ อยู่ในระหว่างพัฒนาสาธารณูปโภค ปรับพื้นที่ขุดบ่อหน่วงน้ำ 100 ไร่ , ปรับพื้นที่สร้างถนน , วางท่อระบายน้ำฝน , ปรับพื้นที่รองรับรางรถไฟ ที่ขยับมาจากจุดเดิม 500 ม. , เริ่มก่อสร้างแวร์เฮ้าส์ 3 หลัง พื้นที่รวม 20,000 ตรม. และกำลังศึกษาออกแบบใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดใช้งานสถานีไฟฟ้าขนาด 50 KVA 2 ชุด และปักเสาพาดสายเมนแล้ว และการประปาภูมิภาค (กปภ.) วางท่อประปาจ่อทางเข้านิคมฯเช่นกัน

นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการ ผจก. บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก. กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีทำเลที่ตั้งศักยภาพสูง อยู่ติดทางรถไฟเส้นทางรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย รองรับการขนส่งสินค้าไทยกับจีนตอนใต้ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อยู่ห่างจากถนนมิตรภาพ 2 กม. และห่างจากสนามบินอุดรธานี 14 กม. มีนักลงทุนจากจีน , ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ให้ความสนใจ แต่จะเริ่มให้จองพื้นที่เมื่อสิ่งสาธารณูปโภคใกล้เสร็จในปี 64

“ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย ยางพาราขั้นปลาย , แปรรูปเกษตร , ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ-ประกอบรถยนต์ , ผลิตวัสดุก่อสร้าง , อิเล็กทรอนิกส์ , เหล็กขั้นปลาย และได้เพิ่มเติมไมโครแฟคตอรี่ พื้นที่ราว 100 ไร่ รองรับ SME หรือสตาร์ทอัพ ที่ต้องการสถานที่เร่งด่วน พื้นที่ 2,000-4,000 ตรม. การก่อสร้างไม่เกิน 6-8 เดือน ทั้งในรูปแบบการเช่า หรือซื้อ ผู้ลงทุนสามารถหิ้วกระเป๋าได้ทันที และเรื่องศูนย์โลจิสติกส์ ”

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมฯแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นลำดับที่ 56 ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ 16 ที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ล่าสุดการให้สิทธิประโยชน์พิเศษ เทียบเท่ากับผู้ประกอบการในเขต อีอีซี. ได้ศึกษาความเหมาะสมท่าเรือบก (Dry Port) ขอรับการสนับสนุนสร้างทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้เข้ามาถึงพื้นที่ 2.3 กม. และนิคมฯสร้างเข้าโครงการอีก 1 กม. , มีแผนการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ที่อยู่ห่างชายแดนด่านหนองคาย 53 กม. สามารถเชื่อมต่อไปกลุ่มประเทศ CLMV ได้อย่างสะดวก

“ แผนการพัฒนาระบบ Logistics ของนิคมฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (2563-2565) จะทำเป็นอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ให้บริการเปิดตู้ และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านแดน มีการขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร และพร้อมให้ใช้บริการ การให้บริการ Tuck Terminal และการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางราง โดยเชื่อมกับสถานีหนองตะไก้ ส่วนระยะที่ 2 (2565-2568) จะพัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองตะไก้ และเป็นผู้ให้บริการขนส่งแบบ Freight Forwarder อย่างเต็มรูปแบบ ”

ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่ออีกว่า พื้นที่ 2,170 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 1,635 ไร่ แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมี 1,000 ไร่ เป็นพื้นที่ขายจริง 700 ไร่ ที่เหลือเป็นระบบสาธารณูปโภค เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท และเฟส 2 มี 1,000 ไร่ เงินลงทุน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันการพัฒนาคืบหน้าไปกว่า 50 % ซึ่งคาดว่าในปี 2564 จะเปิดให้บริการได้ทั้ง 2 เฟส ในเวลาเดียวกัน เมื่อเปิดบริการครบ 100 % จะทำให้เกิดการลงทุนอีกมากกว่า 100,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน สร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึง 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปี ….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments