วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมผู้ว่าฯเดินหน้ารับคนอุดรกลับบ้านต่อ

ผู้ว่าฯเดินหน้ารับคนอุดรกลับบ้านต่อ

คกก.โรคติดต่ออุดรฯ ให้อำนาจผู้ว่าฯ คุย สจจ.นำลูกหลานอุดรกลับบ้าน จากเฟสแรกวันเว้นวันพากลับ 1,238 มาเป็นเท่าที่มีเตียงรองรับ หลังผู้ว่าฯยกประโยคชาวบ้านพูดกัน โดยหมอขอพักหายใจเติมเตียงสีแดง-เหลือง รองหอไทยฯ แซะ ศบค.ปรับตัวชี้วัดใหม่

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่ออุดรธานี มีนายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร รอง ผวจ.อุดรธานี นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สาธารณสุข (สสจ.)อุดรธานี พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย นำคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ระดมความคิดเห็น และพิจารณามาตรการเพิ่มเติม

นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี แจ้งว่า ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นของอุดรฯวันละ 200-300 ราย ส่วนใหญ่กลับมาจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล การติดเชื้อในพื้นที่น้อยมาก ที่เกิดจากผู้หลุดการคัดกรอง เดิมกลับมาเครื่องบิน-รถไฟ-รถโดยสาร-รถส่วนตัว-รถจ้างเหมา และโครงการนำลูกหลานอุดรกลับบ้าน ช่วงหลังทางรถโดยสารไม่มี รถไฟและเครื่องบินลดลง แต่ผู้เดินทางมาทรงตัว สำหรับโครงการนำลูกหลานอุดรกลับบ้าน ระหว่าง 13 ก.ค.-8 ส.ค.64 รับคนกลับมา 1,238 คน เป็นผู้ติดเชื้อ 1,016 ราย ที่เหลือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

“ การไปรับผู้คนกลับมา ได้เตรียมเตียงใน รพ.รองรับผู้ป่วย ที่เดินทางมาถึงเข้ารักษาทันที เตรียมสถานที่กักตัวใกล้บ้าน มีการคัดกรองอย่างเป็นระบบ การเดินทางเป็นระบบปิด มีการนัดหมายล่วงหน้า ทำการคัดกรองทุกคน แยกผู้ป่วย-เสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ ไม่ให้เชื้อแพร่ออกไปภายนอก และส่งต่อไปยังเป้าหมายได้ดี

นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สาธารณสุข (สสจ.)อุดรธานี กล่าวว่า ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อหาทางกลับอยู่แล้ว ไม่ไปรับเขาก็หาหนทางกลับเอง การไปรับถือเป็นเรื่องดี นอกจากได้ช่วยเหลือกัน ยังนำพาเขากลับมาอย่างถูกต้อง มีระบบการส่งต่อและกักตัว ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะนี้สถานการณ์ กทม.ยืดเยื้อ ที่อุดรฯเตียงคนไข้สีแดง เตียงไข้สีเหลืองเหลือน้อย หากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก จนเกินขีดความสามารถ ก็จะเกิดความคิดจะเลือกรักษาใครก่อน หมอขอพักหายใจเตรียมพร้อมก่อน

“ ได้ขอให้ รพ.ศูนย์อุดรธานี , 5 รพ.ชุมชนมีศักยภาพ (บ้านผือ-เพ็ญ-บ้านดุง-หนองหาน-กุมภวาปี) เพิ่มเตียงสีแดง และสีเหลือง และ รพ.ชุมชนขนาดเล็ก ปรับเป็นเตียงสีเหลือง และให้ผู้ป่วยสีเขียว เข้ารักษาตัวที่ รพ.สนาม (ศูนย์โอบอุ้ม-ศูนย์มรกต-ศูนย์ฮวมฮัก 1 , 2 , 3 , 4 และที่อื่นอีกรวม 11 แห่ง รวม 3,037 เตียงตอนนี้มีเตียงรองรับอยู่ ส่วนศูนย์พักคอย (CI) 7 แห่ง สำหรับผู้ป่วยตรวจ ATK รอผล PCR จะพักคอยไม่เกิน 2 วัน จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ทันที”

พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า อุดรฯนำคนกลับบ้านได้รับคำชม บางพื้นที่นำเอาระบบเราไปปรับใช้ นอกจากจะช่วยลูกหลานกลับบ้าน มารักษาตอนอาการยังไม่หนัก ยังลดภาระของกรุงเทพฯด้วย ผู้ป่วยเข้ารักษาเป็น สีแดง 20 % สีเหลือง 50 % และสีเขียว (เด็ก-สตรีมีครรภ์) 30 % ขณะผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนสีเขียวที่เหลือส่งไป รพ.สนาม ขณะ รพ.ต้องเร่งปรับเตียงเพิ่มศักยภาพ มีเตียงออกซิเจน 211 จุด ออกซิเจนแรงดันสูง 68 เครื่อง ที่ได้จากโครงการ “ไทอุดรไม่ทิ้งกัน” รวมถึงเอ็กซเรย์เคลื่อนที่อีก 4 เครื่อง 4 ล้านบาท ขณะการจัดการเครื่องมือต่าง ๆ ต้องเป็นเงินสดเท่านั้น จึงต้องหยิบยืมเงินไปจองก่อน

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ดีใจที่เรารับคนกลับบ้าน เพื่อพาเขามารักษาที่ รพ. แต่การที่ ศบค.นำเอาสถิติคนกลับบ้าน เอาสถิติคนป่วยทั้งหมด ไม่แยกการติดเชื้อภายใน เป็นตัวชี้วัดว่าเป็นจังหวัดสีแดง และสีแดงเข้ม ทำให้จังหวัดที่พยายามป้องกัน ไม่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ถูกทาสีเป็นสีแดงเข้ม ก็กลัวว่าหากตัวเลขอุดรฯยังเพิ่มไม่หยุด เพราะเราไปช่วยลูกหลานกลับบ้าน ก็จะถูกทางสีแดงเข้มอีก มาตรการต่าง ๆที่ออกมาบังคับ ทำให้เศรษฐกิจของเรากระทบ ความจริงคือเราควบคุมได้ ขอให้ ศบค.พิจารณาเรื่องนี้ด้วย

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า เมื่อเช้าไปที่ศูนย์โฮมฮัก จุดคัดกรองที่ มรภ.อุดรธานี พบว่ามีชาวอุดรฯเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง มารายงานตัวที่ศูนย์ฯมากขึ้น และจุดคัดกรองอื่นก็เช่นกัน เชื่อว่ายังมีลูกหลานของอุดรฯ มีความต้องการกลับมาอีก หากจะจัดรถไปรับกลับมาอีก ก็เกรงว่าเตียงพร้อมหรือไม่ ทุกฝ่ายก็กำลังพยายามกันอยู่ เพื่อให้อุดรธานีได้รับความเชื่อมั่น ได้รับการยอมรับ ว่าเมื่อกลับมาที่อุดรฯจะดีกว่า โดยกลับมาจะต้องได้รักษา อยู่ในความดูแลของหมอทุกคน ที่อุดรฯไม่มี “โฮม ไอโซเลชั่น” ไปนอนรักษาตัวที่บ้าน

“ มีคนพูดแสดงความคิดเห็นต่างกัน อาทิ ชาวอุดรกลับมาบ้าน ไปรอความตายทำไมที่กรุงเทพฯ , จะกลับมาทำไม ก็มาตายที่บ้านเหมือนกัน และกลับมาตายที่บ้านก็ยังดีกว่าตายที่อื่น เรื่องไปรับลูกหลานชาวอุดรธานีกลับบ้าน ผมจะขอปรึกษาท่านนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี คงจะไม่ส่งรถไปรับแบบวันเว้นวัน แต่จะไปรับผู้เดือนร้อนมาก ๆ ตามจำนวนศักยภาพที่เรามี เราจะไม่ปล่อยให้เตียงคนไข้ของเราว่าง ขณะที่มีลูกหลานต้องการรักษา ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments