วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมสนข.จับเข่าคุย อจร.อุดรธานีศึกษาขนส่งสาธารณะ

สนข.จับเข่าคุย อจร.อุดรธานีศึกษาขนส่งสาธารณะ

เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561 ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมหารือแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณหลัก และจุดจอดแล้วจร โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี ระหว่างคณะ
อนุกรรมการการจัดการจราจรทางบกอุดรธานี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน กับนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่นำคณะเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการจากบริษัทที่ปรึกษามาร่วมประชุม

ที่ปรึกษาได้รายงานผลการศึกษาเบื้องต้น หลังจากการผ่านเวทีรับความคิดเห็น หรือประชุมกลุ่มย่อย รอบแรกมาแล้วว่า สภาพการจราจรในปัจจุบัน จะเกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าและช่วงเย็น บริเวณสถานศึกษา , ย่านธุรกิจการค้า และทางแยกบางแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกัน แต่มีความหนาแน่นต่างกัน สามารถดูได้จากระดับของสี จากหนาแน่นน้อย ไปหาหนาแน่นมาก คือ เขียว-เหลือง-แดง-น้ำตาล

ข้อมูลจากผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี ที่เป็นของเขตในการศึกษา ที่ผ่านมามีเพียง 3 ฉบับ เริ่มครั้งแรก พ.ศ.2529 ได้รับการปรับปรุงมาอีก 2 ครั้ง คือ พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2553 และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการศึกษาเห็นได้ชัดว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเติบโตเข้มข้นตามแนวถนน รวมทั้งวงแหวนรอบแรกก็เข้มข้นขึ้น และกำลังจะลดบทบาทของภาคอุตสาหกรรม และคลังสินค้า ออกจากตัวเมือง

พื้นที่เมืองอุดรธานี มีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร พบว่าประชากรในเขตนครอุดรธานี อัตราการเปลี่ยนแปลงประชากรลดลง พื้นที่รอบๆก็มีอัตราการเติบโตประชากรไม่สูงมากนัก โดยพบว่าอัตราประชากรเติบโตมากที่สุด คือ ต.หนองนาคำ รองมาคือ ต.สามพร้าว , หนองขอนกว้าง , หมูม่น , เชียงยืน , เชียงพิณ , บ้านจั่น มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นประชากรออกไปอาศัยอยู่ชานเมืองมากขึ้น (แล้วมาทำงานในเมือง)

ผู้ศึกษาวิเคราะห์ว่า พื้นที่ ต.สามพร้าว , หนองนาคำ และหนองขอนกว้าง มีศักยภาพในการพัฒนาสูงสุด เมืองจะเติบโตออกไปตามถนนอุดร-สกลนคร และ ถนนอุดร-สามพร้าว โดยแนวโน้มเมืองรองจะขยายไปทางถนนอุดร-ขอนแก่น และ อุดร-หนองคาย ส่วนเส้นทางสายอื่นศักยภาพลดหลั่งลงมา

โดยแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แบ่งเป็น สายหลัก (เส้นสีแดง) และสายรอง(เส้นสีเขียว) และเป็นระยะแรกคือเส้นทึบ และระยะที่สองคือเส้นไขปลา โดยเส้นสีน้ำเงินคือส่วนต่อขยายในอนาคต ส่วนจะเป็นรถประเภทไหน ต้องรอผลการศึกษา

สำหรับเส้นทางสายหลัก สายสีแดง 10.4 กม. , น้ำเงิน 8.5 กม. , เขียว 12.8 กม. และเหลือง 10.2 กม. (ซึ่งใกล้เคียงกับสัมปทานเดินรถซิตี้บัส ต่างกันอยู่ที่สายเขียวและเหลือง เป็นสัมปทานเดียวกัน ซึ่งสาแดงจะเริ่มวิ่งเดือนพฤศจิกายนนี้) , ส่วนเส้นทางสายรองมี 8 สาย เป็นสายสีต่างๆ อยู่ภายในเขต ทน.อุดรธานี ผ่านสถานที่ต่างๆ เชื่อมกับขนส่งสาธารณะสายหลัก รวมระยะทาง 27.2 กม.

ด้านแนวคิดพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะหลัก รวมทั้งจุดจอดแล้วจร หรือ TOD ซึ่งถือเป็นสถานที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเดินทางมา เพื่อรอรับรถส่วนตัวที่มุ่งหน้าเมือง หรือเพื่อจอดรถส่วนตัวเดินทางต่อไปยังจุดหมาย โดยได้เลือกไว้ 15 จุด คือ สถานีบิ๊กซี , สถานีแม็คโคร , สถานีตลาดหนองบัว , สถานียูดี.ทาวน , สถานีรถไฟ , สถานีเซ็นทรัล , สถานีห้าแยกน้ำพุ , สถานีโพศรีตัดหมากแข้ง , สถานีอาชีวะ , วัดโพธิสมภรณ์ , สถานีจัดหางาน , สถานี บขส.2 , สถานีสนามกีฬา , สถานีแยกสนามบิน และสถานีสนามบิน ซึ่งจะต้องศึกษาในรายละเอียด

ทั้งนี้ในการศึกษาแผนแม่บทฯ ได้แบ่งช่วงเวลาออกเป็นกิจกรรม รวมเวลา 15 เดือน ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 2 กิจกรรม คือ ประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 และการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 รวมเวลา 5 เดือน กิจกรรมต่อไปคือ การประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 แผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ติดตามข้อมูลได้ที่ Fb “โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี”

ผู้ศึกษาระบุด้วยว่า ประชากรของอุดรธานี ที่เข้ามาในพื้นที่เขตเมือง มีการใช้รถส่วนตัวมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการใช้รถสาธารณะ และรถรับจ้าง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการแก้ไขปัญหาจราจรทั่วโลก ซึ่งในเมืองใหญ่ๆทั่วโลกที่ทำสำเร็จ คือ การที่ประชากรจะใช้การเดินมากขึ้น ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ใช้การเดินมากที่สุดในโลก ซึ่งยังพบด้วยว่า “การเดิน” ทำให้ลดงบประมารด้านสาธารณะสุขลงได้กว่า 17 เปอร์เซ็นต์

น่าจะสรุปได้ว่าชาวอุดรธานีที่อยู่ในเมือง จะต้องหันมาสัญจรไปมาระยะใกล้ด้วย “การเดิน” มากขึ้น รวมทั้งการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรมากขึ้น ไม่ใช้เพียงการออกกำลังกาย หรือการนันทนาการเท่านั้น

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments