เวลา 14.30 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 6 โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี นายแพทย์ณรงค์ ธาดาเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และนางอุไรวรรณ พลซา หน.พยาบาลศัลยกรรมกระดูก ร่วมแถลงว่า อุดรธานีได้จัดเก็บสถิติผู้บาดเจ็บ จากการเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง มาตั้งแต่ปี 2555 หลังพบว่าประทัดมีความรุนแรงขึ้น โดยในปี 2558 มีจำนวนผู้บาดเจ็บสูงถึง 158 ราย พิการจำนวนมาก ผู้เสียชีวิต 2 ราย และประทัดแบบ “ลูกบอล” มีความรุนแรงสุด และทุกฝ่ายร่วมรณรงค์ และห้ามจำหน่ายประทัดลูกบอล ขณะเดียวกันเป็นช่วงไว้ทุกข์ของชาวไทย สถิติผู้บาดเจ็บลดลงมากใน 2 ปีที่ผ่านมา
“ ในปีนี้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันรณรงค์ และห้ามจำหน่ายประทัดลูกบอล แต่ก็ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากประทัดลูกบอลมารับการรักษา 50 ราย สูงกว่าในช่วงสองปีเล็กน้อย แต่ก็ต่ำกว่าปี 2558 จำนวนมาก โดยผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเด็ก อายุระหว่าง 3-14 ปี รองลงมาคือ 15-20 ปี และส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บที่มือ-นิ้ว และดวงตา อาการรุนแรงเกิดจาก ปลายนิ้วชี้-กลาง-นาง ข้อแรกขาด และฝ่ามือฉีกเป็นแผลกว้าง โดยที่ รพ.ศูนย์รับผู้บาดเจ็บรุนแรงเข้าผ่าตัด 9 ราย กลับบ้านไปแล้ว 4 ราย รอสรุปว่าพิการถาวรกี่ราย ”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี กล่าวต่อว่า จากสถิติและการสอบสวนพบว่า การรณรงค์และเข้มงวดกวดขัน ในตัวเมืองได้ผลดีมาก ไม่พบว่ามีการขายประทัดลูกบอล แม้ยังพบมีการนำมาเล่นบ้าง ขณะผู้บาดเจ็บเกือบทั้งหมด มาจากชุมชนรองเมือง และต่างอำเภอ โดยผู้เล่นยอมรับว่ายังหาซื้อได้อยู่ และส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ อายุน้อยที่สุดอายุ 3 , 4 , 5 ขวบ ที่พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ทิ้งให้ลูกอยู่กับปู่ย่า ตายาย มีลักษณะดูแลไม่ทั่วถึง ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุขึ้น
นายแพทย์ณรงค์ ธาดาเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี กล่าวตอบข้อซักถามด้วยว่า การบาดเจ็บและพิการน่าจะป้องกันได้ “ประทัดลูกบอล” ทำให้เหมือนมีสงครามเล็กๆเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นอีกในเทศกาลลอยกระทง วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นอกจากการรณรงค์ และห้ามขายประทัดลูกบอล และเรียกร้องให้ประชาชน ในชุมชนและหมู่บ้าน มาช่วยกันเฝ้าระวังรอบๆตัวเรา ไม่ให้มีประทัดลูกบอล หรือประทัดที่ความรุนแรงอื่น ไปขายและเล่นในชุมชน-หมู่บ้าน