เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 ธันวาคม 2561 นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะเดินทางตรวจติดตาม นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธานกรรมการ บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี ผู้ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และคณะ พร้อมกรรมการหอการค้าไทย , ประธานหอการค้าอุดรธานี ประธานสภาอุตสาหกรรมอีสานตอบบน และ จ.อุดรธานี ร่วมเดินทางเพื่อให้ข้อมูลขอรับการสนับสนุนจาก ครม.สัญจรที่ จ.หนองคาย
นางจิดาภา มั่นในสัจจธรรม รองประธานบริหาร บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก. กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งอยู่ ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี พื้นที่ 2,170 ไร่ ห่างจากถนนมิตรภาพ 2 กม. , ห่างจาก ทน.อุดรธานี 12 กม. , ห่างจากสนามบินนานาชาติอุดรธานี 14 กม. , พื้นที่ติดกับทางรถไฟอุดรธานี-ขอนแก่น และห่างจากชายแดน จ.หนองคาย 53 กม. สามารถเชื่อมโยงการค้าทั้งในและนอกประเทศ ขณะนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เข้ามาก่อสร้าง สถานีไฟฟ้าย่อยขนาด 115 เควี.เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ จะเริ่มขายในต้นปี 2562
“ เฟสแรกจะรองรับโรงงานได้ 80-100 โรงงาน จ้างงานเพิ่ม 15,000-20,000 ตำแหน่ง การลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาท ในพื้นที่เฟสที่สองซึ่งเป็นพื้นที่ติดทางรถไฟ เดิมมีแผนจะสร้างศูนย์รับส่งสินค้า “คอเทเนอยาร์ด” เชื่อมกับทางรถไฟ แต่จะขอดำเนินการ “ท่าเรือบก” หรือ ICD ตามที่ ครม.มีมติเมื่อ ก.ย.61 ให้ศึกษาความเหมาะสม เพื่อเชื่อมรางรถไฟภาคอีสาน เข้าสู่พื้นที่โครงการที่มีพื้นที่ 600 ไร่ พร้อมจัดตั้งเขต Free Zone และ สนง.ศุลกากรในพื้นที่ 353 ไร่ ”
ขณะที่ผู้ลงทุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้ขอรับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ให้เท่าเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพราะห่างจากชายแดนเพียง 53 กม. ขอรับการสนับสนุนการสร้างรางรถไฟ จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ มาถึงทางเข้า “ท่าเรือบก” นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี 1.8 กม. ส่วนภาคในจะดำเนินการเอง ขณะภาคเอกชนอุดรธานี ร่วมเสนอให้มีการศึกษาเพื่อก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ จากนิคมอุตสาหกรรมไปถึงตัวเมืองอุดรธานี 14 กม. ซึ่งก่อสร้างไปแล้ว 1 กม.ผ่าน ครม.สัญจรเช่นกัน
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มองความสำคัญพื้นที่อุดรธานี เป็นจุดศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคอีสาน การลงพื้นที่ของนิคมอุตฯอุดรธานี เป็นนิคมแห่งแรกของการนิคมฯในภาคอีสาน ก็ห่างจากชายแดนเพียง 50 กม. ซึ่งมันจะต่อเข้าไปถึงถนน R8-R9 สามารถเข้าไปถึงคุณหมิงได้ ขณะเดียวกันก็จะมีทางรถไฟมาจากคุณหมิง และยังเซ็นเตอร์ส่งต่อแหลมฉบังเพียง 500 กม. ซึ่งมันจะทำให้ภาพของการเชื่อมต่อภูมิภาคแถบนี้ กับ อีอีซี.มีความชัดเจนได้มากขึ้น
“ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมอุตฯสีเขียว รองรับการแปรรูปในเบื้องต้น ของสินค้าเกษตรเป็นส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้ และการนิคมฯเองได้หารือกับนิคมอุดรฯแล้ว ว่าจะแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สำหรับ SME เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ก็ยังดูศักยภาพเรื่องการขนส่ง มีสนามบินนานาชาติไม่ไกลเท่าไหร่ ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขการจัดตั้งเขตฟรีโซน ซึ่งจะได้เปรียบและได้สิทธิประโยชน์พิเศษค่อนข้างมาก จะเป็นที่ตั้งของโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่ต้องการแรงงานค่อนข้างมาก ”
รมช.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนขอสนับสนุน ประเด็นแรก สิทธิประโยชน์พิเศษชายแดน ซึ่งคนที่ดูแลคือ สนง.ใหญ่เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สสช.) และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( BOI) รัฐบาลคงจะพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องขอการรถไฟต่อรางเข้ามาจนถึงทางเข้า ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนเอง แล้วอีกประเด็น ถนนคู่ขนานทางรถไฟ 14 กม.เป็นลักษณะมองภาพไปข้างหน้า ว่ามันจะช่วยลดความแออัดการจราจรในอนาคต จะขอรับการสนับสนับสนุนอย่างน้อยก็ศึกษา เบื้องต้นที่คุยกันมันมีความจำเป็นจริงๆ