ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบการใช้งบประมาณ ในโครงการเพิ่มความเข็มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ ที่โอนมาให้กองทุนหมู่บ้าน เกิดปัญหาการจัดซื้อปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน (ปุ๋ยปลอม) นำมาขายให้กับสมาชิกและชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านนำปุ๋ยไปใช้แล้วไม่ได้ผล ชาวบ้านบางส่วนไม่ยอมจ่ายเงิน ทำให้บางกองทุนต้องส่งปุ๋ยคืน ขณะตัวแทนจำหน่ายขายกิจการไปแล้ว
ทีมงานข่าวเดินทางไปพบนายสุบิน ศิริชน อายุ 57 ปี ผญบ.ทองอินทร์ ม.13 ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ในปี 59 รัฐบาลให้เงินกองทุนหมู่บ้านมา 500,000 บาท ประธานฯกองทุนฯแจ้งว่าจะเอาไปซื้อปุ๋ยเคมีตรา “ทุ่งเงิน” 3 สูตร คือ 15-15-15 , 20-8-20 และ 15-7-35 ขายให้ชาวบ้านกระสอบละ 850 บาท ตนได้ออกไปชวนชาวบ้านให้สั่งซื้อ วันที่ปุ๋ยมาส่งเป็นรถเทเลอร์ 1 คัน ก็เอาไปส่งตามจุดสั่งซื้อใหญ่ๆ ที่เหลือก็เอามาเก็บไว้ที่ศาลากลางบ้าน ชาวบ้านรายย่อยก็ทยอยมารับไป
“ ชาวบ้านหลายรายที่ซื้อปุ๋ยไป คุยกันปากต่อปากว่าไม่ดี ทำให้ปุ๋ยที่เก็บในโกดังไม่มีคนมาเอา วันที่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจปุ๋ย นายสุดใจฯ ประธานกองทุนฯ ขอให้ผมขนปุ๋ยมาเก็บที่บ้าน แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าขายไปหมดแล้ว ซึ่งปุ๋ยที่ขนมาประมาณ 50 กระสอบ ทั้งหมดก็ยังกองอยู่ที่หน้าบ้านผม ถูกแดดถูกฝนน่าจะเสียหายหมดแล้ว บอกให้กองทุนฯมาเอาไปก็ยังเฉยๆอยู่ ส่วนเงินครั้งที่สอง 300,000 บาท กองทุนซื้อปุ๋ยขี้ไก่ขายไปหมดแล้ว ส่วนเงินค่าปุ๋ยกองทุนจ่ายหรือยัง หรือชาวบ้านจ่ายกองทุนหรือยังไม่รู้ ”
นายสุดใจ งามพลับ อายุ 70 ปี ประธานกองทุนหมู่บ้านทองอินทร์ และอดีต ผญบ.ทองอินทร์ เปิดเผยว่า เงินที่ได้มานำไปซื้อปุ๋ยเคมี มีตัวแทนขายใน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี กระสอบละ 800 บาท แล้วนำมาขายกระสอบละ 850 บาท มีชาวบ้านมาซื้อไปราว 400 กว่ากระสอบ ก็มีกระแสออกมาว่าปุ๋ยไม่มีคุณภาพ ชาวบ้านที่ซื้อไปบางคนก็ยังจ่ายไม่ครบ จนสุดท้ายนำไปขายในราคาถูกเพื่อให้ปุ๋ยหมด ปัจจุบันไม่มีปุ๋ยเหลืออยู่แล้ว ทราบว่าตัวแทนขายปุ๋ยดังกล่าวปิดตัวลง แล้วมี DSI ก็ลงมาตรวจสอบ ตอนนี้ไม่ทราบว่าเรื่องไปถึงไหน
นายเทพกุมภา ไวสาลี ผญบ.ท่าม่วงน้อย ต.เวียงคำ อ.กุมภวาปี เปิดเผยว่า (ทางโทรศัพท์) มารับตำแหน่งประธานกองทุนคนใหม่ โดยที่ผ่านมาทราบว่าทางกองทุนฯ ได้นำเงินไปซื้อปุ๋ยยี่ห้อหนึ่ง มาขายให้กับชาวบ้านเช่นกัน ซึ่งจากการสอบถามหลายๆคนบอกว่า ปุ๋ยยี่ห้อดังกล่าวไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร จากราคาขายตอนแรกๆกระสอบละ 800 บาท ต้องลดราคาลงมาเหลือเพียง 100-200 บาท ปัจจุบันปุ๋ยยี่ห้อดังกล่าวไม่มีเหลือแล้ว มีแต่ปุ๋ยใหม่ที่นำมาขาย
นายสุชาติ พิเมย หน.สนง.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขา 6 เปิดเผยว่า กองทุนหมู่บ้านฯเป็นนิติบุคคล มีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเอง เมื่อ กทบ.รับแจ้งผลการสุ่มตรวจของ สตง. ตรวจสอบสิ่งผิดปกติ จึงได้แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่จะเรียกมาอบรมทำความเข้าใจ 64 กองทุนฯหมู่บ้าน และจะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ 31 กองทุนหมู่บ้าน ด้วยข้อจำกัดในบุคลากร คาดว่าจะรวบรวมข้อมูลเสร็จสัปดาห์นี้ โดยในส่วนโครงการจัดซื้อปุ๋ย จะต้องนำ พรบ.ปุ๋ย เข้ามาพิจารณาในการตรวจสอบด้วย
“ การจัดซื้อปุ๋ยตราที่มีปัญหาทั้ง 17 กองทุนหมู่บ้าน ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า แต่ละกองทุนหมู่บ้านลักษณะแตกต่างกัน ทั้งปริมาณปุ๋ยจัดซื้อ , การจำหน่ายปุ๋ย , คุณภาพของปุ๋ย และอื่นๆ ขณะผู้ผลิตปุ๋ยก็ยืนยันว่า ปุ๋ยที่ผลิตออกมาตามสูตร ที่ได้รับการรับรองมา ขณะที่ตอนนี้ผู้ผลิตก็เลิกผลิตไปแล้ว หลังการตรวจสอบครั้งนี้ จะต้องประเมินว่าจะต้องตรวจสอบ ปุ๋ยตรานี้มีกองทุนหมู่บ้านไหนในพื้นที่อุดรธานี และใกล้เคียงจัดซื้อไปอีก ”
นายสนิท ชาวไทย รักษาการ ผอ.ตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 เปิดเผยว่า ได้สุ่มตรวจโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ จ.อุดรธานี ประจำปี 2559 จำนวน 95 กองทุน จาก 1,700 กองทุนฯ เพื่อตรวจสอบการดำเนินงาน ว่าทำตามระเบียบกฎหมายกำหนด และมีผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายหรือคุ้มค่าไหม ซึ่งเป็นโครงการที่ประชาชนเสนอขึ้นมา อาทิ เลี้ยงวัว , ตู้น้ำ- ตู้น้ำมันหยอดเหรียญ , ร้านค้า , ยุ้งฉาง และปุ๋ย เมื่อพบมีปัญหาได้เสนอแนะให้ตรวจสอบ หากมีความเสียหายต้องหาผู้รับผิดชอบ และหาทางเรียกเงินคืน
“ สำหรับการตรวจพบซื้อปุ๋ยมาจำหน่าย ตราทุ่งเงิน ผลิตโดย หจก.อุดรเจริญทรัพย์โภคภัณฑ์ ไม่สามารถจำหน่ายได้ ไม่ละลายน้ำ ไม่มีคุณภาพ ไม่ทำให้พืชเจริญงอกงาม จึงนำปุ๋ยใน 3 กองทุนหมู่บ้านไปตรวจวิเคราะห์ ผลเป็นปุ๋ยปลอม เมื่อตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านอื่น พบมีการซื้อปุ๋ยมาจำหน่าย 34 กองทุนหมู่บ้าน ใน อ.กุมภวาปี , ศรีธาตุ และบ้านดุง จัดซื้อปุ๋ยตราทุ่งเงินมาขาย 17 กองทุน เชื่อว่าจะเป็นปุ๋ยปลอมเช่นกัน การตรวจสอบของ กทบ.จะต้องใช้เวลา เพราะมีขั้นตอนมากขึ้น และให้รายงานผลใน 60 วัน ”
นายบุญมา สุดวิสัย ผญบ.ม.4 บ.สามขาสันติสุขใต้ ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า รัฐบาลโอนเงินมาให้กองทุนหมู่บ้าน 2 ครั้งๆแรก 500,000 บาท ครั้งที่สอง 300,000 บาท เอามาสร้างร้านค้าชุมชน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน กองทุนฯไม่เคยนำมาซื้อปุ๋ยเลย แม้ว่าตัวแทนจำหน่ายปุ๋ย “ทุ่งเงิน” หจก.อุดรเจริญทรัพย์โภคภัณฑ์ จะตั้งอยู่ในหมู่บ้านนี้ก็ตาม แต่หลังจากเกิดปัญหาปุ๋ยถูกตีกลับ ทำให้“เสี่ยเอ.” (นายธนโชติ พันจันทร์ดา) ปิดกิจการย้ายไปที่อื่น โดยขายอาคาร-ที่ดิน ให้คนอื่นมาทำธุรกิจใหม่แทน