เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 กันยายน 2563 อิทธิพลของพายุ “โนอึล” ส่งผลให้ท้องฟ้าทั่ว จ.อุดรธานี ถูกปิดปกคลุมด้วยเมฆ เริ่มมีฝนตกลงมาไม่ไมหนัก ตั้วแต่เวลา 07.00-13.00 น. วัดปริมาณน้ำฝนได้ที่สถานีตรวจอากาศอุดรธานีเพียง 5.8 มม.เท่านั้น แต่ทุกหน่วยงานยังคงติดตามสถานการณ์ เตรียมรับมือกับพายุฝนที่คาดว่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจ “เทศบาลนครอุดรธานี”
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายก ทน.อุดรธานี ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพายุโนอึน ขึ้นที่หน่วยป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ทน.อุดรธานี ริมสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม รวบรวมเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากร พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. โดยสถานีสูบน้ำพร้อมทุกแห่ง ทั้งสถานีสูบน้ำออกนอกเมืองรวม 7 สถานี , สถานีสูบน้ำจากที่ลุ่มต่ำลงลำห้วย 7 สถานี , สถานีสูบน้ำเคลื่อนที่ 4 สถานี และสถานีสูบน้ำเสีย ซึ่งมีประสิทธิภาพระบายน้ำได้ 3 ล้าน ลบม./วัน
ขณะการพร่องน้ำแล้วเสร็จตั้งเช้าวันนี้ ทั้งในลำห้วยหมากแข้ง , ลำห้วยมั่ง , หนองบัววังมัจฉา , แหล่งน้ำในกอบบิน 23 และแก้มลิงในจุดต่างๆ ทุกแห่งถูกพร่องออกไปแล้ว ขณะที่ระดับน้ำนอกเมืองต่ำกว่าในตัวเมืองมาก นอกจากนี้ ทน.อุดรธานี ให้เฝ้าระวังพื้นที่น้ำระบาย บนถนนโพศรี (หน้าพิพิธภัณฑ์เมือง) , ถนนพรหมประกาย , ถนนนิตโย (ตลาดหนองบัว) แม้จะลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการระบายไปแล้ว โดยเฉพาะการจัดการ “ขยะ” ที่จะไปทำให้เครื่องสูบน้ำหยุดทำงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า อ่างฯส่วนใหญ่ของอุดรธานี มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะอ่างฯที่มีอิทธิพลกับเมืองอุดรธานี อาทิ อ่างฯห้วยหลวง ความจุ 135 ล้าน ลบม. มีน้ำ 42.5 ล้าน ลบม. , อ่างฯกุดลิงง้อ ความจุ 6.4 ล้าน ลบม.มีน้ำ 1.46 ล้าน ลบม. , อ่างฯเก็บน้ำบ้านจั่น ความจุ 4.35 ล้าน ลบม. มีน้ำ 2.84 ล้าน ลบม. ขณะที่อ่างฯมีปริมาณน้ำเกิน 70 % มีอิทธิพลตัวเมืองเพียง 1 อ่างฯ คืออ่างฯหนองสำโรง ส่วนที่เหลืออยู่ในที่ อ.กุมภวาปี , อ.วังสามหมอ , อ.บ้านผือ อ.น้ำโสม และ อ.นายูง.