หลังจากเจาะหลุมที่ 13 ที่ฐาน C ล้มเหลวปีก่อน ปตท.ประกาศเจาะเพิ่มอีก 2 หลุม ที่ฐานเดิมเริ่มปลายมกราคมนี้ ต่อเนื่องกันทั้ง 2 หลุม แต่จะเลือกจุดแฟร์ในช่วงกันยายน เลือกช่วงลมไม่กระทบวัดป่าภูสังโฆ พร้อมแจงผลกระทบรอบปีไม่มี เว้นช่วงแฟร์ก๊าซครั้งก่อน
เวลา 10.30 น. วันที่ 27 มกราคม 2563 ที่ห้องประชุมอินเตอร์รีสอร์ต อ.หนองแสง จ.อุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบโครงการ แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง รอง ผวจ.อุดรธานี , นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี , ผู้แทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ , คณะกรรมการฯ , ผู้แทนจาก ปตท.สผ. และตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม
นายอารยะ แช่มทิม ผจก.แหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ชี้แจงว่า แหล่งก๊าซสินภูฮ่อมเริ่มผลิตก๊าซปลายปี 2549 มีฐาน เอ. (ขอนแก่น) 1 หลุม, ฐาน B , C และD (อุดรธานี) รวม 3 หลุม ต่อท่อส่งก๊าซระยะทาง 64 กม.ไปยังโรงแยกก๊าซที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยส่งก๊าซให้ กฟผ.90 เปอร์เซ็นต์ มีสัญญาส่งสูงสุด 135 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน แต่แรงดันลดลงขณะนี้ส่งได้สูงสุดเพียง 102 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ที่เหลือส่งตามศูนย์บริการ NGV (อุดรธานี 2 สถานี)
“ ปตท.ส่งก๊าซตามความต้องการของ กฟผ. ปริมาณการส่งไม่แน่นอน ในปี 2562 จึงผลิตได้ 84.40 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน สูงกว่าปีก่อน และตั้งแต่ 30 พ.ย.2549-31 ธ.ค.2562 ผลิตก๊าซไปแล้ว 438.94 พันล้าน ลบ.ฟุต หรือใช้ไปแล้ว 48.2 % มียอดสะสมค่าภาคหลวง ตามสัดส่วนประกาศของกระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็น ทต./อบต.แห่งละ 219.1 ล้านบาท และ อบจ.จังหวัดละ 1,139.6 ล้านบาท โดยมีการจัดสรรปีละ 4 ไตรมาศ ”
นายอารยะ แช่มทิม ผจก.แหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ชี้แจงอีกว่า ปตท.มีแผนการเจาะเพิ่มแรงดันก๊าซ ให้ได้ปริมาณตามสัญญา ในปี 2562 ได้เจาะก๊าซเพิ่ม 1 หลุมที่ฐาน C แต่ล้มเหลวจึงปิดหลุมเจาะนั้น ในปีนี้มีแผนเจาะในฐาน C อีก 2 หลุม โดยหลุมแรกจะย้ายเครื่องจักร มาปลายเดือนมกราคม และทำการเจาะแบบไม่เผาก๊าซ 60 วัน จากนั้นจะขยับไปเจาะหลุมที่สอง จนถึงกันยายนจะกลับมาแฟร์ก๊าซหลุมแรก สลับกับแฟร์ก๊าซหลุมสอง พร้อมกันนี้จะจัดทำ อีไอเอ. วางท่อก๊าซจากฐาน C ไปฐาน A
ขณะบริษัทที่ปรึกษา รายงานติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อม เริ่มจากการแฟร์ก๊าซในอีก 2 หลุม ที่อยู่บริเวณฐาน C ที่มีการแฟร์ก๊าซในครั้งก่อน ส่งผลกระทบกับ วัดป่าภูสังโฆ ตอนช่วงที่การนำหัวเจาะขึ้น และพบว่าปริมาณแมลงลดลง และปริมาณนกมากขึ้น ในครั้งนี้จึงเลือกเอาช่วง เดือนกันยายนแฟร์ก๊าซ โดยศึกษาจากกระแสลม ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด จะไม่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด
สำหรับเรื่องตรวจอากาศช่วงผลิตก๊าซ ได้เพิ่มเติมการตรวจหา วีโอซี. และก๊าซไข่เน่า ตามคำขอของคณะกรรมการ ในการตรวจวัดทั้ง 6 สถานี ไม่พบผลกระทบจากโครงการ แม้จะพบก๊าซ 3 ชนิด คือ อะโครลีย , อะซิทัลดีไฮล์ และเบนซิน ก็เป็นสารที่มาจากนอกพื้นที่ , น้ำผิวดินไม่มีรายงานกระทบ , น้ำใต้ดินพบค่าปนเปื้อน มีลักษณะเหมือนครั้งก่อน ที่เกิดขึ้นจากสภาพพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากโครงการ , สภาพดินไม่มีผลกระทบ