วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Google search engine
หน้าแรกศิลปวัฒนธรรมผนังอุโมงค์ลาย“ขันหมากเบ็ง”จากผ้าขิดโบราณ

ผนังอุโมงค์ลาย“ขันหมากเบ็ง”จากผ้าขิดโบราณ

เปิดที่มาลายผนังอุโมงค์อุดร ฝีมือสถาปนิกทีมศิลปินอิสระ เพิ่มอัตลักษณ์ความเป็นอีสานอุดร บันดาลใจจากลายผ้าขิดโบราณ “ขันหมากเบ็ง” เครื่องประกอบพิธีมงคลชาวอีสาน เป็นสัญลักษณ์ยินดีต้อนรับ และขอให้โชคดีผู้ลอดอุโมงค์เข้า-ออก

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ภายในอุโมงค์ทางแยก อุดรธานี-หนองคาย 3 ระดับ พื้นระดับ-อุโมงค์-ทางข้าม ก่อนที่จะเปิดใช้งานในเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2562 หลังจากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวและภาพ ว่าเป็นอุโมงค์ลายผ้าพื้นเมืองอีสาน “ขันหมากเบ็ง” และยังเป็นทางต่าง 3 ระดับ สร้างพร้อมกันในอีสานแห่งแรก และเป็นอุโมงค์ยาวที่สุดที่กรมทางหลวงเคยสร้าง มีประชาชนเข้าไปถ่ายภาพจำนวนมาก บางส่วนไปสร้างปัญหาจึงห้ามไม่ให้เข้าไป

นายธนันชัย สามเสน อดีตประธานหอการค้า จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ท่านผู้ว่าวัฒนา พุฒิชาติ ระหว่างรับตำแหน่งที่อุดรธานี ได้มอบหมายให้ตนร่วมกับ ศิลปิน สถาปนิกในท้องถิ่น มาเพิ่มเติมอัตลักษณ์อุดรธานี ให้กับทางต่างระดับที่กำลังสร้าง มีหลายส่วนที่ได้นำเสนอ สำหรับผนังอุโมงค์ “สถาปนิกปองพล” เสนอเป็นลายผ้าขิดโบราณ และเลือกใช้ลายขันหมากเบ็ง ซึ่งมีความหมายอันเป็นมงคล ขณะที่อุดรฯมียุทธศาสตร์เมืองผ้าทอมือด้วย สำหรับปติมากรรมส่วนอื่น ด้วยเวลากระชั้นชิดยังไม่ตกผลึก หากสานต่องานนี้น่าจะสมบูรณ์

นายปองพล ยุทธรัตน์ สถาปนิกทีม “เฮดดีไซน์สตูดิโอ” เปิดเผยว่า เป็นลูกหลานอุดรธานี ได้รับการชักชวนจากนายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี ในสมัยนั้น และตนก็เป็นสมาชิกฯ มาเป็นทีมงานร่วมกับศิลปิน-สถาปนิกอุดรธานี ช่วยกันคิดจะทำอะไรได้บ้าง กับการสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชาวอีสาน หรืออุดรธานี ในโครงการทางต่างระดับอุดรธานี โดยเริ่มคุยกันมาตั้งแต่ต้นปี 62 มีท่านผู้ว่าฯขณะนั้นแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน และมาติดตามเรื่องต่อเนื่อง

นายปองพล ยุทธรัตน์ กล่าวต่อว่า ได้คุยกับผู้รับผิดชอบว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีหลายส่วนงาน รวมทั้งเรื่องผนังอุโมงค์ ตนได้เสนอแนวคิดและได้รับมอบหมายทำงานนี้ จากแบบเดิมผนังจะมีรูปลักษณ์กลมๆ และมีวัสดุซับเสียงด้านหลัง จึงลำดับแนวทางการออกแบบไว้ ลำดับแรกจะต้องซับเสียงได้ไม่น้อยกว่าของเดิม , ลำดับสองไม่เป็นจุดสนใจมาก ที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ และลำดับสุดท้ายต้องสวยงามเป็นเอกลักษณ์อุดรธานี

“ อุโมงค์นี้ออกจากอุดรไปหนองคาย จะผ่านตลาดผ้านาข่า แหล่งผ้าพื้นเมืองใหญ่ที่สุดในอีสาน ความสนใจจึงไปที่ลายผ้าพื้นเมือง โดยศึกษาจากหนังสือลายผ้าอุดร 121 ปี แล้วเลือกผ้าขิดลายโบราณ ชื่อลายขันหมากเบ็ง ซึ่งเครื่องประกอบพิธีชาวอีสาน มีความหมายอันเป็นมงคล จึงนำลายผ้ามาทำกราฟฟิก เพื่อลดทอนรายละเอียดจนลงตัว นำไปจำลองทดสอบการซับเสียง ในห้องแล๊ปที่กรุงเทพฯ มีการปรับขนาดแบบอยู่ 3 ครั้ง จนเดือนสิงหาคมสรุปงานส่งให้ผู้รับจ้าง ”

นายปองพล ยุทธรัตน์ ตอบข้อซักถามด้วยว่า ลายผ้าขิดโบราณ ลายขันหมากเบ็งในอุโมงค์ มีความเป็นสิริมงคลในตัวเอง เปรียบเหมือนเป็นสัญญาลักษณ์ “ยินดีต้อนรับ” ผู้คนเดินทางเข้ามาในเมือง และอวยพร “ขอให้โชคดี” ขณะผู้คนเดินทางออกจากเมืองไป รู้สึกภูมิใจที่ได้มามีส่วนร่วมกับงานนี้ และดีใจมากที่มีเสียงตอบรับออกมาดี

“ ผนังอุโมงค์ลายผ้าขิดโบราณ ลายขันหมากเบ็ง มีความเป็นสิริมงคลในตัวเอง เปรียบเหมือนเป็นสัญญาลักษณ์ “ยินดีต้อนรับ” ผู้คนเดินทางเข้ามาในเมือง และอวยพร “ขอให้โชคดี” ขณะผู้คนเดินทางออกจากเมืองไป ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขันหมากเบ็ง หรือ ขันหมากเบญจ์ คือ พานพุ่มดอกไม้ที่ใช้เป็นพานพุ่มบูชาในพิธีกรรม และบูชาพระรัตนตรัยในวันอุโบสถ หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการนำไปบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งนิยมในวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา ทำด้วยใบตอง เครื่องบูชา 5 อย่าง ได้แก่ หมาก พลู ธูป เทียน ข้าวตอก ดอกไม้ อย่างละ 5 คู่ นิยมใช้เป็นเครื่องประกอบในการสักการบูชา หรือเครื่องพลีกรรม…

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments