เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องประชุมสำนักก่อสร้างสะพาน โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี (ด้านเหนือ) จังหวัดอุดรธานี หมวดการทางเก่าน้อย กรมทางหลวง นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ ผวจ.อุดรธานี ร่วมประชุมสรุปการออกแบบศิลปกรรม ปติมากรรมทางต่างระดับ ร่วมกับนายอเนก สุวรรณภูเต ผอ.แขวงการทางอุดรธานีที่ 1 นายสุเทพ บุญตะโก ช่างควบคุมงาน และกลุ่มศิลปินจิตอาสานำโดยนายธนัชชัย สามเสน อดีตประธานหอการค้า จ.อุดรธานี
ในการประชุมแจ้งว่า ชื่อทางต่างระดับยังไม่มีการตั้งชื่อ ซึ่งปกติกรมทางหลวงจะไม่ตั้ง จะขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้ง ซึ่งที่ประชุมยังไม่พิจารณา ขณะศิลปินจิตอาสา ได้นำเสนอร่างแบบศิลปกรรม ปติมากรรม เพื่อแลกเปลี่ยนจนมีข้อสรุป คือ 1.ปติมากรรม ทางขึ้นลงอุโมงค์ ด้าน ทน.อุดรธานี (ไหบ้านเชียงร่วมสมัย) และด้านไป จ.หนองคาย (ท้าวเวสสุวัณ) ขอให้ชะลอการก่อสร้างตามแบบไว้ เพื่อรอการระดมความคิดเห็นชาวอุดรธานี
ผนังอุโมงค์ ยังยืนยันเป็นลายขันหมากเบ็งในผ้าหมี่ขิด ฉะลุบนวัสดุให้เป็นลวดลาย จะอยู่ส่วนในอุโมงค์ และเพิ่มเติมการขยายลวดลายใหญ่ใหญ่ขึ้น ช่วงออกมาที่ปลายอุโมงค์ 2 ด้าน , ที่เสาสะพานทางข้ามด้านกว้าง ตกแต่งด้วยไหลายบ้านเชียง ลักษณะนูนจากเสาปกติ โดยเป็นไหที่มีสัดส่วนและลาดลายวัตถุโบราณจริง , เสาไฟฟ้าแสงสว่างในสะพานทางข้าม ช่อไฟออกแบบเป็น “ดอกทองกวาว”
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า โครงการนี้คาดสิ้นปีนี้คงได้งานใช้ โดยสิ่งที่ทำควบคู่กันมาคือ การออกแบบปติมากรรม และสิ่งซึ่งจะแสดงถึงเอกลักษณ์ของอุดรธานี ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาของผ้าหมี่-ขิด , แหล่งโบราณอายุ 5000 ปี ตรงนี้เป็นจุดคมนาคมที่สำคัญ จะบ่งบอกความเป็นมาของอุดรธานี ภาคเอกชน กลุ่มศิลปินผู้มีความรู้ทางด้านศิลปะ มาพูดคุยกันถึงลวดลาย ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความปลอดภัย เรื่องของวิศวกรรมจราจรเป็นหลัก
“ ขอบคุณกระทรวงคมนาคม ที่ได้กรุณาให้พี่น้องชาวอุดรธานี ได้มีส่วนร่วมในการสร้างแนวคิด เพื่อความเป็นอัตลักษณ์ของบ้านเมืองพวกเรา ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องชาวอุดรธานีได้ขอบพระคุณ จากนี้ไปยังมีบ้างงานที่อยากให้คนอุดรธานีร่วมกันคิด และเราจะออกแบบร่วมกัน และจะแจ้งข่าวสารให้ทราบต่อไป ”