จอกหูหนูยักษ์ “ปีศาจสีเขียว” ระบาดอุดรธานียังแก้ไม่ได้ ล่าสุดเต็มอ่างฯน้ำพาน แหล่งท่องเที่ยวล่องแพ กระทบวิถีชีวิต นอภ.กำหนดแผน 5 ขั้นตอน เริ่มแล้ว อบจ.-โยธา นำเครื่องจักรหนักตักออกจากน้ำวันละ 100 ตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ว่าที่ท่าแพท่องเที่ยวบ้านแมด อ่างเก็บน้ำพาน อ.สร้างคอม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ “ลองแพน้ำพาน” จอกหูหนูยักษ์ วัชพืชลอยน้ำจากต่างประเทศ หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ถูกนักวิชาการไทยตั้งสมญาว่า “ปีศาจสีเขียว” กำลังระบาดขยายพันธุ์ปิดผิวน้ำ เป็นอุปสรรคในการทำประมง และการท่องเที่ยว ทำให้นายวัฒนา พุทธิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมคณะ เดินทางติดตามการกำจัด
จอกหูหนูยักษ์ หรือปีศาจสีเขียว พบการระบาดครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อนที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อุดรธานี แม้จะใช้งบประมาณกำจัดไปแล้ว แต่ก็ยังกำจัดได้ไม่หมด ยังคงขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็เกิดการระบาดในอ่างฯ ลำห้วย ของลุ่มน้ำห้วยหลวง จนมาถึงอ่างฯน้ำพาน เปรียบเหมือนประตูสุดท้ายไหลลงแม่น้ำโขง ยังพบการระบาดที่ลุ่มน้ำสงคราม จากการไปแพร่ระบาดออกจาก แหล่งน้ำรอบป่าคำชะโนด
นายมังกร ก้อนฆ้อง นายก อบต.เชียงดา เปิดเผยว่า เห็นข่าวจอกหูหนูยักษ์ระบาดมาหลายปีแล้ว คิดว่าซักวันหนึ่งต้องระบาดในพื้นที่อ่างพาน จนกระทั่งช่วงปลายปีที่ผ่านมาเริ่มสังเกตเห็นจอกหูหนูยักษ์จำนวนหนึ่ง ในพื้นที่แต่ยังมีไม่มากนัก พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้พบแพร่กระจายมากขึ้น จนเกิดปัญหาในการออกทำการประมง จากเดิมที่กระจายอยู่ทุกท่าทั้งท่าสร้างคอม และท่านาสะอาด
“ ช่วงเดือนที่ผ่านมาลมเปลี่ยนทิศ พัดจากตะวันตกมาตะวันออก จอกหูหนูยักษ์จึงมารวมกันอยู่ที่ท่าบ้านแมด จึงเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านที่ออกทำประมง ช่วยกันเก็บจอกหูหนูยักษ์ใส่เรือออกจากอ่างตามกำลังที่ทำได้ และเตือนชาวบ้านให้ระวังหากเจอลมแรงให้ระวังในการออกเรือ อาจจะเจอปัญหาเรือติดอยู่ในจอกหูหนูยักษ์ เหมือนพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ.หนองวัวซอ ซึ่งครั้งนั้นต้องนอนค้างคืนกลางน้ำ ”
นายติยรัตน์ ธูปวงศ์ นายอำเภอสร้างคอม เปิดเผยว่า อำเภอได้เริ่มเก็บจอกหูหนูยักษ์ เมื่อ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยรับการสนับเครื่องจักรจาก อบจ.อุดรธานี และโยธาธิการและผังเมือง จ.อุดรธานี วางแนวทางไว้ 5 ขั้นตอน คือ 1.ใช้เครื่องจักรหนัก รถแบ็คโฮ เก็บวัชพืช นำมาไว้ริมฝั่งได้วันละ 100 ตัน 2.นำไปจัดเก็บในพื้นที่ของ อบต.เชียงดา 3.ล็อควัชพืชที่เหลืออยู่ไว้ ช่วงน้ำหลากจะได้ผลักดันออกนอกอ่างฯ , 4.เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา การนำจอกหูหนูยักษ์ไปใช้ประโยชน์ และ 5 .ทำความเข้าใจชาวบ้าน ช่วยกันเก็บจอกหูหนูยักษ์ขึ้นจากน้ำ
“ โชคดีว่าช่วงนี้ปิดฤดูท่องเที่ยวล่องแพอ่างน้ำพาน จึงยังไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านที่ทำประมงเดือดร้อน เนื่องจากออกหาปลาตามวิถีชีวิตลำบากหาปลาได้ยากขึ้น ช่วงนี้จึงต้องเร่งกำจัดออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพราะหากถึงฤดูท่องเที่ยวแล้วจะเกิดปัญหาแน่นอน จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ขอข้อมูลในการป้องกันและกำจัด ตอนนี้ก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ จากข้อมูลข่าวสารเรื่องจอกหูหนูยักษ์ที่ผ่านมาในพื้นที่อื่น ยอมรับว่าหนักใจแต่ก็จะแก้ปัญหานี้ให้เร็วและมากที่สุด ”