วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Google search engine
หน้าแรกท่องเที่ยว“บ้านเชียง”ทำบุญบรรพบุรุษควายไทย 2 พันปี

“บ้านเชียง”ทำบุญบรรพบุรุษควายไทย 2 พันปี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 พฤษภาคม 2562 บริเวณหลุมขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง วัดโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี นายทศพร ศรีศักดิ์ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย นำเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย และชาวบ้านที่ชื่นชอบควาย จัดกิจกรรมวันอนุรักษ์ควายไทย โดยร่วมทำพิธีบายศรีสู่ขวัญควาย ให้อยู่คู่กับเจ้าของควายตลอดไป , ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ควายที่ตายไปแล้ว จากนั้นเข้าเยี่ยมชมหลุมขุดค้นโบราณคดี ซึ่งที่นี่ขุดพบโครงกระดูกบรรพบุรุษควาย สมัยบ้านเชียงอายุ 2,300-1,800 ปีก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกฝังไปพร้อมกับศพของคนตาย

มีผู้เลี้ยงควายงาม นำควายของตัวเองมาร่วมพิธี ซึ่งควายที่นำมาแต่ละตัว มีรูปร่างสวยงาม เช่น ควายตัวผู้ชื่อว่า เจ้าภูพญา อายุ 5 ปี เป็นควายงามตัวใหญ่ ราคา 500,000 บาท ตัวที่ 2 คือเจ้าเทอร์โบ อายุ 3 ปี ราคา 400,000 บาท และควายตัวเมียเจ้าทองก้อน เพิ่งตกลูกออกมาเป็นตัวผู้อายุ 5 เดือน ราคา 300,000 บาท โดยควายทั้งหมดเป็นของนายไพบูลย์ ปัญญาคำ อายุ 57 ปี ชาวบ้าน ต.บ้านเชียง นอกจากนี้ยังมีควายงามของ นายเสมียน ไม้ชัย อายุ 70 ปี ชาวบ้านที่บ้านสามขา ต.บ้านตาด อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี นำควายงามชื่อว่า เจ้าเพชรศรีธาตุ ควายตัวผู้อายุ 3 ปี ควายเผือก หรือที่คนอีสานเรียกว่า ควายด่อน ชื่อ “เจ้าแก้วตา” มาโชว์ ส่วนเจ้าเพชรน้ำหนึ่งที่เป็นควายตัวเมียราคาล้านกว่าบาท นายเสมียนไม่ได้เอามาโชว์ เพราะท้องแก่ใกล้คลอด

น.ส.เบญพร สารพรม หน.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง เปิดเผยว่า การขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงโบราณ จนได้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2518 เป็นเรื่องราวการฝังไปพร้อมกับศพเจ้าของ แต่โครงกระดูกควายไม่มีหัว เชื่อว่าคนบ้านเชียงสมัยก่อนทำการเกษตร มีการนำควายมาใช้ไถนา โครงกระดูกควายที่พบ แตกต่างจากควายป่า น่าจะเป็นควายเลี้ยง ที่นี่น่าจะมีบรรพบุรุษควายอยู่เช่นกัน นอกจากควายแล้วก็มีวัว หมู มีไก่และสุนัข ที่คนบ้านเชียงเลี้ยงเอาไว้ และฝังเอาไว้กับเจ้าของที่ตายไป ตามความเชื่อว่าการฝังสัตว์เลี้ยงไปกับคนตาย คนตายจะได้เอาสิ่งของเหล่านี้ไปใช้ในภพหน้าได้ด้วย

นายทศพร ศรีศักดิ์ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย เปิดเผยว่า วันนี้กลุ่มผู้เลี้ยงควายไทยได้รวมตัวกัน จัดกิจกรรมพิธีบายศรีสู่ขวัญควาย ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ควายที่ตายไปแล้ว ซึ่งถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่เกษตรกรไทยมาแต่โบราณ การมาจัดกิจกรรมที่นี่ยังได้มาดูบรรพบุรุษควาย ตามหลักฐานที่ขุดพบพร้อมกับโครงกระดูกมนุษย์โบราณบ้านเชียง 5 พันปีด้วย เชื่อว่าควายอยู่กับมนุษย์เรามาก่อนสมัยประวัติศาสตร์แน่นอน ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ จ.อุดรธานี นิยมเลี้ยงควายเพิ่มขึ้น มียอดทั่วจังหวัดกว่า 60,000 ตัว เชื่อว่าต่อไปที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต มาบ้านเชียงนอกจากจะได้ชมมรดกโลก ต่อไปหากมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต อาจจะนั่งควายชมท้องทุ่งอีกด้วยก็ได้

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments