วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Google search engine
หน้าแรกธุรกิจผวจ.อุดรตั้งทีมเร่งท่าเรือบกขอทบทวน รฟท.เมิน

ผวจ.อุดรตั้งทีมเร่งท่าเรือบกขอทบทวน รฟท.เมิน

ผู้ว่าอุดรธานีตั้งทีมรวบรวมข้อมูล ให้การรถไฟทบทวนหนุน “ท่าเรือบกอุดรธานี” ยกมติ ครม.สัญจรที่เพชรบูรณ์ไฟเขียว ย้ำสภาพัฒน์ฯมองศักยภาพสูง พร้อมเดินหน้าได้ทันที ประธานสภาอุตฯอีสานบนหนุนเต็มสูบ ที่ดินพร้อมมากพอ-ติดทางรถไฟ-ใกล้ถนนมิตรภาพ-สนามบิน ได้ประโยชน์ทั้งอีสานตอบบน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี , นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าฯ , นายพรเทพ ศักดิ์สุจริต ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มอีสานตอนบน , นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี , นายสุวัฒน์ วิไลงาม รองประธานหอการค้าอุดรธานี หน่วยหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง เดินทางลงติดตามความคืบหน้า “นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” ต.โนนสูง อ.เมืองอุดรธานี ตามมติ กรอ.กลุ่มอีสานตอนบน โดยมีนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธาน บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก.นำคณะลงพื้นที่

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมคณะได้ติดตามความคืบหน้า การเริ่มใช้งานของสถานีย่อยไฟฟ้า , การปรับพื้นที่รองรับสิ่งสาธารณูปโภค ตลอดจนพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และบ่อหน่วงน้ำ คืบหน้าไปมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ , การปรับพื้นที่เพื่อรองรับคลังสินค้า และปรับพื้นที่รองรับทางรถไฟ ตามแผนงานการก่อสร้างท่าเรือบก (Dry Port) โดยพัฒนาจากคอเทเนอร์ยาร์ด เป็นสถานีพิธีการศุลกากรสินค้าขาเข้า-ขาออก (ซีดีไอ.) ที่ยังคงยืนยันขอรับการสนับสนุน การสร้างทางรถไฟ 1.8 กม.มาจ่ออยู่ทางเข้าพื้นที่

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธาน บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก. กล่าวว่า ซีดีไอ.ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะเอื้อประโยชน์ให้กับอีสานตอนบน ในการเป็นโกดังสินค้า รอการบรรจุหีบห่อ และการส่งออก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้า-ขนส่ง และลดความแออัดที่ท่าเรือได้มาก เราได้ขอรับการสนับสนุนการสร้างราง ในพื้นที่ของการรถไฟ ใส่วนพื้นที่ของเอกชนจะดำเนินการเอง ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย รวมทั้งมีนักลงทุนระดับประเทศสนใจ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ได้รับคำตอบว่าดำเนินการไม่ได้ จึงอยากให้ภาครัฐทบทวนอีกครั้ง

นายพรเทพ ศักดิ์สุจริต ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มอีสานตอนบน เปิดเผยว่า ท่าเรือบกที่อุดรธานีมีความพร้อม จุดที่ตั้งห่างถนนมิตรภาพ 2.5 กม. ติดกับทางรถไฟขอนแก่น-อุดรธานี และห่างจากสนามบินไม่ถึง 15 กม. พื้นที่เพียงพอขยายได้มากกว่า 500 ไร่ ทุกจังหวัดในอีสานตอนบนจะได้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ น้ำตาลทราย , ยางแท่ง , ข้าวสาร , มันสำปะหลัง และสินค้าแปรรูปอื่นๆจะตามมา ที่สำคัญสามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอ ภาครัฐต้องรีบมาให้การสนับสนุน

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนิคมอุตสาหกรรมจะเกิดในภูมิภาค จะต้องได้รับการสนับสนุนพอสมควร ที่อุดรธานีมีความคืบหน้าไปมาก วันนี้ได้มาติดตามความคืบหน้า และรับทราบปัญหาจากเอกชน ที่ขณะนี้การปรับพื้นที่ใกล้สมบูรณ์ อยู่ระหว่างรอการก่อสร้างเท่านั้น แต่เมื่อการรถไฟแจ้งไม่สนับสนุน เราจึงตั้งทีมงานขึ้นมาติดตาม และเห็นเบื้องต้นว่าจะขอให้ทบทวนอีกครั้ง เพราะประโยชน์จะได้รับในภาพรวม ไม่ใช่ภาคเอกชนรายได้รายหนึ่งเท่านั้น

“ กรอ.อุดรธานี และ กรอ.ภาคอีสานตอนบน มีมติร่วมผลักดันท่าเรือบกอุดรธานี โดยถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และได้รับการสนับสนุนจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ในการนำเข้าพิจารณาในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์ และ ครม.ก็มีความเห็นชอบให้ดำเนินการ ซึ่ง สนข.ได้กำหนดให้มีการศึกษาเพิ่มเติม ขณะที่ทีมศึกษาของอุดรธานี ได้เอาเกณฑ์การให้คะแนนท่าเรือบก พบว่าอุดรธานีได้คะแนนมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เหตุที่ไม่เลือกพื้นที่อุดรธานีตอนแรก เพราะไม่ได้เข้ามาศึกษาอุดรธานีเลย ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments