แก้โรงยางแท่งเหม็นยังไม่จบ แต่ยังเดินเครื่องจักรโรงใหม่เพิ่ม กลิ่นเข้ามาถึงตัวเมืองอุดรธานี ทำกระแสต้านโรงงานใหม่ขยายวง ผู้ตรวจพิเศษสำนักนายกลงลุยรอบสาม จับเข่าคุย 6 โรงยางแท่ง ให้เสนอแผนจัดการวัตถุดิบใหม่ ก่อนมาตรฐานกลิ่นโรงยางประกาศใช
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทร์ขาว พร้อมคณะ ผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกับโรงงานยางแท่งในพื้นที่ จ.อุดรธานี 6 โรง ประกอบด้วย บ.วงศ์บัณฑิต อุดรธานี จก. , บ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จก. (มหาชน) สาขาอุดรธานี , บ.กวางเขิงรับเบอร์ แม่น้ำโขง จก. , บ.ซูนิรับเบอร์ จก. , บ.ไทยฮั้วยางพาราอุดรธานี จก. และโรงงาย 5 กยท. เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นไปพร้อมๆกัน
พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทร์ขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขโรงงานยางเหม็นที่อุดรธานี กำลังเป็น“อุดรโมเดล” ต้นแบบแก้ปัญหาโรงยางทั่วประเทศ ซึ่งที่อุดรธานีทุกฝ่ายมีความตั้งใจ แต่ผลที่ออกมายังไม่น่าพอใจ ทำกันทุกอย่างที่เชื่อว่าแก้ไขได้ แต่ก็ยังมีกลิ่นเหม็นอยู่ แม้แต่วันที่ไม่มีการผลิตก็เหม็น ทำให้หน่วยงานรับผิดชอบ ต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง อปท.จะต้องใช้ ม.28 พรบ.สาธารณสุข หน่วยงานสิ่งแวดล้อม กำลังเร่งออกมาตรฐานกลิ่นโรงงานยาง จึงต้องมาคุยกันร่วมกันแก้ไข ที่ทุกคนจะได้รับผลกระทบ
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ขณะที่การแก้ไขปัญหา 2 โรงที่ ต.หนองนาคำ อ.เมือง ยังไม่ประสบผลสำเร็จ กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งกลิ่นเหม็นเข้ามาถึงกลางเมือง แต่โรงงานยางของ บ.วงษ์บัณฑิต อุดรธานี จก. กลับทดลองเดินเครื่องโรงงานใหม่ ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน และกระทบต่อการลงทุนโครงการอื่นๆ ที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านโรงงาน โดยยกเอาตัวอย่างความล้มเหลว ของการแก้ไขปัญหาโรงงานยางแท่ง จึงไม่อยากให้ขยายกำลังผลิต หรือตั้งโรงงานยางแท่งเพิ่ม จนกว่าจะสามารถแก้ไขโรงงานเก่าได้
ว่าที่ ร.ต.เรวัต จีระมณีมัย ผู้แทนอุตสาหกรรม จ.อุดรธานี กล่าวว่า บ.วงษ์บัณฑิต อุดรธานี จก. ได้รับอนุญาตก่อสร้างโรงงานยางแท่ง และได้ยื่นขอทดสอบเครื่องจักร สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ได้อนุญาตให้ทดสอบจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หากทางโรงงานยื่นขออนุญาตเปิด ได้พิจารณาว่าจะขัดกับคำวินิจฉัยของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ” ที่ให้ชะลอการเปิดโรงงานใหม่ไปจนกว่าจะแก้ปัญหาโรงงานเก่าได้ จึงหารือไปยังฝ่ายกฎหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะยังไม่อนุญาตจนกว่าฝ่ายกฎหมายจะมีความเห็น
ขณะที่ตัวแทนโรงงานยางแท่งทั้ง 6 โรงในพื้นที่ จ.อุดรธานี ได้รายงานถึงแผนงานแก้ไขระยะสั้น ระยะยาว ของการขนส่งยางก้อนถ้วยเข้าโรงงาน , การจัดการกองวัตถุดิบกลางแจ้ง , การจัดการเตาอบยางแท่ง และการจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ที่มีวิธีการเหมือนและแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดก็ยังไม่สามารถแก้ไข กลิ่นเหม็นของโรงงานยางแท่งได้ เป็นเพียงการแก้ไขให้ลดความรุ่นแรงลงเท่านั้น
พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ อินทร์ขาว พร้อมคณะผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทุกโรงยางเสนอแนวทาง การจัดการ“น้ำเซรั่ม”ที่อยู่ในยางก้อนถ้วยกว่า 50 เปอร์เซนต์ และเป็นต้นเหตุของกลิ่นเหม็น จะถูกจัดการก่อนเข้ามาโรงงาน โดยให้แต่ละโรงงานไปเสนอแผน ว่าจะไม่รับซื้อยางก้อนถ้วยเปียก และมารับซื้อ “ยางเครฟ” ที่ใช้เครื่องจักรรีบน้ำเซรั่มออก ก่อนส่งเข้าโรงงาน หรือ “ยางก้อนถ้วยแห้ง” ในระดับเนื้อยางกี่เปอร์เซ็นต์ ก่อนมาพูดคุยตกลงว่าจะใช้วิธีใด เพื่อให้ทุกโรงรับทำข้อตกลง ซื้อยางมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเตรียมรับกับมาตรการกฎหมาย ที่จะต้องบังคับใช้เร็วๆนี้
นายสบาย มุกดาม่วง นายก อบต.หนองนาคำ เปิดเผยว่า ตามที่คณะทำงานแก้ไขปัญหา มีความเห็นให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ใช้มาตรา 28 พรบ.สาธารณสุข กับโรงงานยางแท่งทั้ง 2 แห่ง หากยังส่งกลิ่นเหม็นอยู่ โดยให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นพี่เลี้ยงรวบรวมเอกสาร เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมหลักฐานเสร็จแล้ว รอการตรวจทานให้แน่ใจอีกครั้ง คาดว่าภายในหน้า จะออกหนังสือแจ้งเตือนโรงงานได้ เมื่อเตือนแล้วยังมีปัญหาก็จะทำตามขั้นตอน จนไปถึงการใช้อำนาจสั่งปิดปรับปรุงโรงงาน