เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561 ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมหารือแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณหลัก และจุดจอดแล้วจร โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี ระหว่างคณะ
อนุกรรมการการจัดการจราจรทางบกอุดรธานี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน กับนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่นำคณะเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการจากบริษัทที่ปรึกษามาร่วมประชุม
ที่ปรึกษาได้รายงานผลการศึกษาเบื้องต้น หลังจากการผ่านเวทีรับความคิดเห็น หรือประชุมกลุ่มย่อย รอบแรกมาแล้วว่า สภาพการจราจรในปัจจุบัน จะเกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าและช่วงเย็น บริเวณสถานศึกษา , ย่านธุรกิจการค้า และทางแยกบางแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกัน แต่มีความหนาแน่นต่างกัน สามารถดูได้จากระดับของสี จากหนาแน่นน้อย ไปหาหนาแน่นมาก คือ เขียว-เหลือง-แดง-น้ำตาล
ข้อมูลจากผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี ที่เป็นของเขตในการศึกษา ที่ผ่านมามีเพียง 3 ฉบับ เริ่มครั้งแรก พ.ศ.2529 ได้รับการปรับปรุงมาอีก 2 ครั้ง คือ พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2553 และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการศึกษาเห็นได้ชัดว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเติบโตเข้มข้นตามแนวถนน รวมทั้งวงแหวนรอบแรกก็เข้มข้นขึ้น และกำลังจะลดบทบาทของภาคอุตสาหกรรม และคลังสินค้า ออกจากตัวเมือง
พื้นที่เมืองอุดรธานี มีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร พบว่าประชากรในเขตนครอุดรธานี อัตราการเปลี่ยนแปลงประชากรลดลง พื้นที่รอบๆก็มีอัตราการเติบโตประชากรไม่สูงมากนัก โดยพบว่าอัตราประชากรเติบโตมากที่สุด คือ ต.หนองนาคำ รองมาคือ ต.สามพร้าว , หนองขอนกว้าง , หมูม่น , เชียงยืน , เชียงพิณ , บ้านจั่น มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นประชากรออกไปอาศัยอยู่ชานเมืองมากขึ้น (แล้วมาทำงานในเมือง)
ผู้ศึกษาวิเคราะห์ว่า พื้นที่ ต.สามพร้าว , หนองนาคำ และหนองขอนกว้าง มีศักยภาพในการพัฒนาสูงสุด เมืองจะเติบโตออกไปตามถนนอุดร-สกลนคร และ ถนนอุดร-สามพร้าว โดยแนวโน้มเมืองรองจะขยายไปทางถนนอุดร-ขอนแก่น และ อุดร-หนองคาย ส่วนเส้นทางสายอื่นศักยภาพลดหลั่งลงมา
โดยแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แบ่งเป็น สายหลัก (เส้นสีแดง) และสายรอง(เส้นสีเขียว) และเป็นระยะแรกคือเส้นทึบ และระยะที่สองคือเส้นไขปลา โดยเส้นสีน้ำเงินคือส่วนต่อขยายในอนาคต ส่วนจะเป็นรถประเภทไหน ต้องรอผลการศึกษา
สำหรับเส้นทางสายหลัก สายสีแดง 10.4 กม. , น้ำเงิน 8.5 กม. , เขียว 12.8 กม. และเหลือง 10.2 กม. (ซึ่งใกล้เคียงกับสัมปทานเดินรถซิตี้บัส ต่างกันอยู่ที่สายเขียวและเหลือง เป็นสัมปทานเดียวกัน ซึ่งสาแดงจะเริ่มวิ่งเดือนพฤศจิกายนนี้) , ส่วนเส้นทางสายรองมี 8 สาย เป็นสายสีต่างๆ อยู่ภายในเขต ทน.อุดรธานี ผ่านสถานที่ต่างๆ เชื่อมกับขนส่งสาธารณะสายหลัก รวมระยะทาง 27.2 กม.
ด้านแนวคิดพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะหลัก รวมทั้งจุดจอดแล้วจร หรือ TOD ซึ่งถือเป็นสถานที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเดินทางมา เพื่อรอรับรถส่วนตัวที่มุ่งหน้าเมือง หรือเพื่อจอดรถส่วนตัวเดินทางต่อไปยังจุดหมาย โดยได้เลือกไว้ 15 จุด คือ สถานีบิ๊กซี , สถานีแม็คโคร , สถานีตลาดหนองบัว , สถานียูดี.ทาวน , สถานีรถไฟ , สถานีเซ็นทรัล , สถานีห้าแยกน้ำพุ , สถานีโพศรีตัดหมากแข้ง , สถานีอาชีวะ , วัดโพธิสมภรณ์ , สถานีจัดหางาน , สถานี บขส.2 , สถานีสนามกีฬา , สถานีแยกสนามบิน และสถานีสนามบิน ซึ่งจะต้องศึกษาในรายละเอียด
ทั้งนี้ในการศึกษาแผนแม่บทฯ ได้แบ่งช่วงเวลาออกเป็นกิจกรรม รวมเวลา 15 เดือน ขณะนี้ผ่านมาแล้ว 2 กิจกรรม คือ ประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 และการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 รวมเวลา 5 เดือน กิจกรรมต่อไปคือ การประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 แผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ ติดตามข้อมูลได้ที่ Fb “โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี”
ผู้ศึกษาระบุด้วยว่า ประชากรของอุดรธานี ที่เข้ามาในพื้นที่เขตเมือง มีการใช้รถส่วนตัวมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการใช้รถสาธารณะ และรถรับจ้าง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการแก้ไขปัญหาจราจรทั่วโลก ซึ่งในเมืองใหญ่ๆทั่วโลกที่ทำสำเร็จ คือ การที่ประชากรจะใช้การเดินมากขึ้น ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ใช้การเดินมากที่สุดในโลก ซึ่งยังพบด้วยว่า “การเดิน” ทำให้ลดงบประมารด้านสาธารณะสุขลงได้กว่า 17 เปอร์เซ็นต์
น่าจะสรุปได้ว่าชาวอุดรธานีที่อยู่ในเมือง จะต้องหันมาสัญจรไปมาระยะใกล้ด้วย “การเดิน” มากขึ้น รวมทั้งการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรมากขึ้น ไม่ใช้เพียงการออกกำลังกาย หรือการนันทนาการเท่านั้น