เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตต์ ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการจัดการจราจรทางบก (อจร.) อุดรธานี มีนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผอ.สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายพิชัย วัฒนศรีมงคล วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางแขวงขอนแก่น รฟท. เข้าร่วมประชุมในห้อง และทางออนไลน์ กับคณะกรรมการ จ.อุดรธานี ภาครัฐ เอกชน ที่มารอคำตอบ รฟท. เรื่อง “ทางพาดรถไฟบ้านจั่น” ก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมาลงพื้นที่อุดรธานี และภาคเอกชนจะร้องเรียนเรื่องนี้
นายณัฐพงศ์ คําวงศ์ปิน หน.สนง.จ.อุดรธานี รายงานต่อที่ประชุมว่า เรื่องทางพาดรถไฟบ้านจั่น หรือจุดตัดทางรถไฟทางหลวง 216 ก่อนเข้านครอุดรธานี มีข้อถกเถียงมาตั้งแต่ปี 2564 เมื่อภาคเอกชน , องค์กรปกครองท้องถิ่น , ประชาชน และประชาสังคม คัดค้านรูปแบบทางพาดรถไฟดังกล่าว ที่ รฟท.ออกแบบให้รถไฟทางคู่อยู่พื้นราบเดิม ขณะที่รถไฟความเร็วสูงยกข้ามไป โดยต้องการให้รถไฟทางคู่ยกข้ามเช่นกัน
“ การเรียกร้องผ่าน กกร.อุดรธานี , กรอ.อุดรธานี , มติสภา อปท.ในพื้นที่ , กมธ.คมนาคม และอีกหลายช่องทาง แม้ทาง รฟท.จะยืนยันไม่ปรับแก้ แต่ กรอ.อุดรธานี ก็ยังคงยืนยันให้ยกข้าม เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชาวอุดรธานีสูงสุด พร้อมกับเสนอทางออกให้ รฟท. ให้สร้างรถไฟทางคู่ข้ามทางพาด และคงทางรถไฟเดิมไว้ เพื่อขนส่งปูนซีเมนต์ให้เอกชน ซึ่ง อจร.อุดรธานี ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ จึงให้ รฟท.มาชี้แจงการพิจารณาข้อเสนอเอกชนอุดรธานี ”
นายพิชัย วัฒนศรีมงคล วิศวกรกำกับการกองบำรุงทางแขวงขอนแก่น ตัวแทนของ รฟท.มอบหมายให้ บ.ที่ปรึกษา และหน่วยงานดูแลโครงการชี้แจงว่า ได้รับข้อเสนอของ กรอ.อุดรธานี มาพิจารณาทางวิชาการ งานด้านวิศวกรรม , งบประมาณ และงานระเบียบข้อกฎหมาย รวมไปถึงรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( อีไอเอ.) หากดำเนินการตามความต้องการของอุดรธานี โดยแบ่งเป็น 4 ทางเลือก
“ รฟท.เสนอทางเลือกที่ 4 ข้อดี ลดกระแสคัดค้าน , ขนส่งปูนซีเมนต์ต่อไปได้ ส่วนข้อเสีย มูลค่าการก่อสร้างเพิ่มขึ้น , ต้องเสนอขออนุมัติโครงการใหม่ , ต้องจัดทำ อีไอเอ.ใหม่ ,
ส่งผลกระทบแผนงานล่าช้า , มีค่ำใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทางรถไฟ และค่าดำเนินการควบคุมเครื่องกั้นจุดตัดเสมอระดับ (ทางเข้า บ.ทีพีไอ จก.มหาชน) , ค่าใช้จ่ายปรับปรุงระบบเครื่องกั้นฯ และยังมีจุดตัดเสมอระดับเหมือนเดิม โดยทางรถไฟจะยกข้ามจาก บ.คำกลิ้ง ไปจนถึงทางพาดรถไฟหนองแด โดยขอให้อุดรธานีสนับสนุนการนำเข้า ครม.เร็วๆนี้ ”
นายชัยฤทธิ เขาวงษ์ทอง อดีต ส.อบจ.อุดรธานี แกนนำขับเคลื่อนกรณีนี้ กล่าวว่า หาก รฟท.ยังยืนยันในรูปแบบเดิม จะทำให้ชาวอุดรฯกระทบมาก ทั้งจำนวนรถวันละ 35,000 คัน , รถจักรยาน-จักรยานยนต์-จักรยานสองล้อ-รถการเกษตร รวมไปถึงคนเดินถนน จะต้องอยู่กับโครงการไปเป็นร้อย ๆปี ลูกหลานก็จะเดือดร้อน ขอบคุณที่ รฟท.ยอมรับฟังและแก้ไข ให้เป็นไปตามความต้องการของชาวอุดรธานี
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผอ.สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้สรุปมติที่ประชุม อจร.อุดรธานี สนับสนุน ให้ รฟท.แก้ไขแบบทางพาดรถไฟ “บ้านจั่น” ด้วยการสร้างรถไฟทางคู่ยกข้าม และคงทางรถไฟเดิมไว้ สำหรับขนส่งปูนให้ภาคเอกชน และเพิ่มเติมจะศึกษาการเดินรถไฟ เที่ยวพิเศษชั่วคราว เพื่อสนับสนุนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 1 พ.ย.69-14 มี.ค.70 (ปิดประเด็นร้อนอุดรธานี ก่อนนายกฯเศรษฐาฯเดินทางมาอุดรธานี)