วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมโยธาฯศึกษาแก้น้ำท่วมนครอุดร 1.8 พันล้าน

โยธาฯศึกษาแก้น้ำท่วมนครอุดร 1.8 พันล้าน

“กรมโยธา”จ้างที่ปรึกษาทำแผน ป้องกันน้ำท่วมนครอุดรรอบสอง หลังใช้งานทำรอบแรกมากว่า 20 ปี เมืองเติบโตขวางทางระบายน้ำ เสนอแบ่งจัดการน้ำ 4 โซน ชง 2 เม็กกะโปรเจค 700 และ 1,100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่ห้องประชุมเวสสุวัณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิตติยาภา นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความเห็น การศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบ ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะที่ 3 มีนายพรเทพ ศรีวรานันท์ โยธาธิการและผังเมืองอุดรธานี นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนในเขต ทน.อุดรธานี เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น

นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง โดยเฉพาะในเขต ทน.อุดรธานี ในปี 2543 และ 2544 ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจจังหวัด จึงเกิดโครงการป้องกันน้ำท่วมครั้งแรก ซึ่งก็ใช้งานมานานมากแล้ว ขณะปัจจุบันเมืองเติบโต สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่เมื่อฝนตกหนัก ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยก็กระทบรุนแรง ในส่วนอุดรธานีได้เตรียมความพร้อม จึงได้รับผลกระทบบ้างในพื้นที่กเกษตร เป็นโอกาสดีที่จะมีการศึกษา แผนป้องกันน้ำท่วมอีกครั้ง

รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี วิศวกรชลศาสตร์-แหล่งน้ำ ที่ปรึกษาโครงการฯอธิบายว่า พื้นที่ ทน.อุดรธานี และชุมชนต่อเนื่อง เป็น 1 ใน 4 แผนงานที่เข้าดำเนินการ แบ่งงานเป็นทบทวนการศึกษาที่เหมาะสม และออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง โดยการแก้ไขน้ำท่วมชุมชนดีที่สุดคือ “การทำคลองระบายน้ำอ้อมเมือง” ซึ่ง ทน.อุดรธานีได้ดำเนินการไปแล้ว เหลือเพียงการระบายน้ำฝน ออกจากพื้นที่ตนเองไม่ให้ท่วมขัง แต่จากการเติบโตของเมือง ทำให้เกิดการท่วมขังหลายพื้นที่ ต้องใช้เวลาในการระบายออก

“ นครอุดรฯแก้ปัญหาต่อเนื่อง ทั้งเพิ่มสถานีสูบน้ำใต้ดิน การสร้าง-ขยายทางระบายน้ำ และแผนงานอื่น ๆ ซึ่งจากการลงพื้นที่ยังพบปัญหา การเติบโตเมืองขวางทางน้ำ ทั้งการก่อสร้างของภาครัฐ-เอกชน รวมทั้งพื้นที่รับน้ำในอดีตหายไป โดยที่ปรึกษาจะเข้ามาศึกษาออกแบบ จะไม่มีการเวนคืนที่ดิน และจะให้ท้องถิ่นเสียค่าจัดการต่ำสุด (ต้นทุนค่าสูบน้ำ ลบม.ละ 50 สตางค์) จึงกำหนดพื้นที่บริหารจัดการน้ำ 4 โซน คือ UD001. ด้านทิศตะวันตก 8.2 ตร.กม. , UD002 ด้านทิศเหนือ 5.9 ตร.กม. , UD003 ด้านทิศตะวันออก 2.0 ตร.กม. และ UD004 ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ 6.8 ตร.กม. ”

ที่ปรึกษาโครงการฯ ชี้แจงต่อว่า มีแผนงานระบายน้ำขนาดใหญ่ 2 แผนงานๆแรก ระบายน้ำจากซอยจินตคาม-ชุมชนฝั่งตะวันออกถนนทหาร ลงสูงลำห้วยมั่ง เพื่อส่งน้ำต่อเข้าคลองระบายน้ำขนานทางรถไฟ เพื่อส่งลงไปพักที่หนองบัววังมัจฉา จากนั้นต่อท่อส่งน้ำไปหนองเหล็ก เพื่อสูบออกไปคลองระบายน้ำอ้อมเมืองตะวันออก แผนงานนี้จะมีการวางท่อ , การขยายทางระบายน้ำ , สร้างประตูควบคุมน้ำ และสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ค่าก่อสร้างประมาณ 700 ล้านบาท

“ แผนงานที่สอง จะระบายน้ำจากห้วยหมากแข้ง บริเวณถนนศรีสุข ด้วยการก่อสร้างอุโมงค์น้ำ มาตามถนนโภคานุสรณ์ ถนนโพศรี ถึงตลาดหนองบัว สร้างสถานีสูบน้ำที่ 1 ลงไปยังหนองบัววังมัจฉา สร้างประตูน้ำต่อด้วยอุโมงค์น้ำ ไหลไปพักไว้ที่หนองเหล็ก แล้วสร้างสถานีสูบน้ำที่ 2 สูบน้ำออกไปคลองส่งน้ำรอบเมืองตะวันออก ค่าก่อสร้างประมาณ 1,100 ล้านบาท ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทน.อุดรธานี มีพื้นที่รับน้ำใน 47.7 ตร.กม. มีศักยภาพป้องกันน้ำป่าไหลเข้าเมือง ด้วยคลองระบายน้ำฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก ขณะการระบายน้ำออกนอกเมือง ตามธรรมชาติทำได้เพียง 2 ทาง คือ ลำห้วยหมากแข้ง และลำห้วยมั่ง จึงต้องอาศัยการสร้างสถานีสูบน้ำ 2 ส่วน ๆ แรก สูบน้ำจากที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตนเองออก และสูบน้ำออกนอกเมือง ปัจจุบันเครื่องสูบมีสภาพเก่า และปริมาณน้ำมีมากขึ้น จึงเกิดสภาพน้ำรอระบาย ทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments