เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 กุมภาพันธุ์ 2565 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมคณะนายวันชัย จันทร์พร นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าฯ นายสุชาติ ทองมณี นายอำเภอกถมภวาปี นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมตรวจติดตามการกำจัด “จอกหูหนูยักษ์” บริเวณท่าเรือบ้านเชียงแหว ทต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี ที่ปิดทางเข้าออกเรือท่องเที่ยวทะเลบัวแดง ขณะเดียวกันจอกหูหนูยักษ์ ได้ระบาดในหนองหานกุมภวาปี หรือทะเลบัวแดง ประเมินล่าสุดกว่า 7 แสนตัน
โดยบริเวณท่าเรือบ้านเชียงแหว ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี , โครงการฝายกุมภวาปี(เจ้าของพื้นที่) , ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย , เอกชนในพื้นที่ , ชาวเรือ , ประชาชน และนักเรียน ได้นำรถแบ็คโฮ , เรือโป๊ะ , รถบรรทุก , เรือท่องเที่ยว และกำลังคน ดันจอกหูหนูยักษ์เข้าฝั่ง ให้รถแบ็คโฮและเรือโป๊ะ ตักขึ้นไว้บนฝั่ง และตักใส่รถบรรทุกนำออกไปกองไว้ห่างฝั่ง นอกจากนี้ยังมีรถของโรงเรียน และประชาชน มาขนเอาจอกหูหนูยักษ์ไปเช่นกัน ทำให้หน้าท่าเรือบ้านเชียงแหว มองเห็นพื้นน้ำเกือบทั้งหมด ต่างจากเมื่อวันศุกร์ปิดจนไม่เห็นผิวน้ำ
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้รับฟังรายงานทีมปฏิบัติหน้าที่ ก่อนสอบถามความคิดเห็น แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรของภาครัฐ เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปกปักรักษาแหล่งน้ำสำคัญแห่งนี้ แล้วสรุปจะใช้ท่าเรือเชียงแหว ทต.เชียงแหว เป็นสถานที่นำร่องสนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยจากจอกหูหนูยักษ์ ก่อนขยายออกไปยัง อปท.อื่นๆใน อ.กุมใภวาปี อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.หนองหาน
จากนั้นนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมคณะ เดินทางไปยังท่าเรือบ้านเดียม มีนายไพรสิทธิ์ สุขรมย์ ประธานกลุ่มเรือบ้านเดียม นำดูสภาพหน้าท่าเรือท่องเที่ยว ลมได้พัดจอกหูหนูยักษ์มารวมอยู่ทิศตะวันตก ติดกันแน่นเป็นผืนขนาดใหญ่ ขณะที่ริมตลิ่งด้านเดียวกัน ก็จะมีกองจอกหูหนูยักษ์ ที่ถูกนำขึ้นมาจากน้ำปีนี้ 3 ครั้ง รวมมากกว่า 100 ตัน บางส่วนถูกนำมากองหมัก กับขี้วัว-ขี้ควายเป็นปุ๋ยสูตร “แม่โจ้1” ไปแล้ว 22 กองๆละ 1 ตัน
นายสุชาติ ทอนมณี นายอำเภอกุมภวาปี เปิดเผยว่า ทุกปีเราประสานความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวและภาคเอกชน โดยเฉพาะเครื่องจักรหนัก เพื่อนำจอกหูหนูยักษ์และผักตบชวา ขึ้นจากหนองหานกุมภวาปี อีกทางหนึ่งเราได้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่รอบทะเลบัวแดง 4 ตำบล ช่วยกันนำขึ้นมากำจัดอยู่ตลอด แต่จอกหูยักษ์แพร่กระจายเร็ว สร้างปัญหาให้กับแหล่งน้ำ ในการแก้ไขระยะยาว ท่านผู้ว่าฯมีแนวนโยบายให้อำเภอว่า จะต้องมีวิสาหกิจชุมชนทำปุ๋ยหมัก นำไปใช้ต่อยอดในเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ นำปุ๋ยตัวนี้ไปใช้ในท้องไร่ท้องนา เหลือก็นำไปขายสร้างรายได้
นายวีระวัฒน์ วงษ์ศรีรักษา นายกเทศมนตรีตำบลเชียงแหว เปิดเผยว่า ขั้นแรกเราจะคุยกับพี่น้องประชาชน เรื่องการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ถ้าจะเข้มแข็งได้ทุกคนต้องตั้งใจ และทำให้เกิดผลสำเร็จ ไม่ใช่ทำแล้วก็ปล่อยวาง ในช่วงที่ยังไม่ได้จัดตั้งโรงปุ๋ย เราก็จะประสานพี่น้องประชาชน นำวัชพืชพวกนี้ไปทำปุ๋ย ในส่วนของครัวเรือนที่สามารถทำได้ก่อน ท้องถิ่นเองจะเชิญหน่วยงานพัฒนาที่ดิน เข้ามาให้ความรู้ในด้านการพัฒนาดิน และการนำวัชพืชไปทำปุ๋ย
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า เรานำเครื่องจักรเข้ามาทำแล้วหลายวัน ทำให้ท่าเรือมีสภาพโล่งขึ้น แต่ว่าวัชพืชเกิดได้เร็วมาก เราเสียสมาธิไปไม่กี่สัปดาห์ก็กลับมาเติบโตเต็มไปหมด หลังจากการเก็บวัชพืชครั้งใหญ่ไปแล้ว เราต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ในวันนี้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย ถึงการแก้ปัญหาในระยะยาว อย่างแรกเราต้องสร้างแรงจูงใจ ให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้ๆ มาร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อมของพื้นที่ทะเลบัวแดง
“ ทะเลบัวแดงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอุดรธานีมาก เป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นเราต้องมาร่วมกัน รักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำ ให้นักท่องเที่ยวที่มาเห็น แล้วเกิดความสวยงามประทับใจ วัชพืชมันเติบโตได้ตลอดอยู่แล้ว แต่จะสร้างแรงจูงใจอย่างไร ให้พี่น้องมาช่วยกันดูแลตลอดเช่นกัน จึงเกิดแนวคิดการตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อที่จะรวบรวมเอาวัชพืชในทะเลบัวแดง ขึ้นมากำจัดและใช้ประโยชน์ไปคู่กัน ”
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เปิดเผยอีกว่า ช่วงแรกอาจจะนำมาทำเป็นปุ๋ย หน่วยงานเกษตรได้มาตรวจสอบดูสภาพวัชพืชแล้ว ว่าจะกลายเป็นปุ๋ยคุณภาพดี และได้ขอให้พัฒนาชุมชนเข้ามาสำรวจตลาด ว่าจุดไหนที่มีความต้องการปุ๋ย ไม่ว่าเป็นปุ๋ยสด ปุ๋ยแห้ง หรือแม้แต่วัสดุปรุงดิน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่การตลาดให้กับพี่น้องประชาชน ให้สามารถลุกขึ้นยืนได้ในระยะแรก หลังจากวิสาหกิจชุมชนดำเนินการ เริ่มหมุนเวียนมีเงินทุนแล้ว ก็จะสามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงได้ด้วยตัวเอง หากที่นี่สำเร็จก็จะต่อยอดไปในพื้นที่อื่น แต่ขอเร่งทำที่นี่ก่อน เพราะถือเป็นหัวใจหลัก กระแสการทำเกษตรปลอดภัยก็กำลังมาแรง จึงเชื่อว่าการแก้ปัญหาในทิศทางนี้จะสามารถเดินต่อไปได้….