วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคม“พืชสวนโลก”ข้อมูลยังไม่ลงตัวคู่แข่งเพิ่ม

“พืชสวนโลก”ข้อมูลยังไม่ลงตัวคู่แข่งเพิ่ม

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี จัดให้มีการประชุมทางไกลร่วมของ สนง.ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) นำโดยนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รอง ผอ. สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สสปน. กับจังหวัดอุดรธานี นำโดยนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เรื่องการเตรียมความพร้อมเสนอตัวจัดงาน “พืชสวนโลก” พ.ศ.2569

โดยมีนายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี , นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นายวีระพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี , พ.ต.วรายุติ์ ตรีวัฒนสุวรรณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี , เกษตรสหกรณ์ จ.อุดรธานี , เกษตร จ.อุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ จ.อุดรธานี เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมรายงานความคืบหน้าว่า หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบรับเป็นเจ้าภาพจัดงาน “พืชสวนโลก” ที่ จ.อุดรธานีใน พ.ศ. 2569 หลังจากเกิดปัญหามากว่า 2 ปี และกำหนดให้ จ.อุดรธานี เสนอแผนงานต่อคณะกรรมการจากกระทรวงเกษตรฯ ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ แต่มีการเลื่อนมาเป็นวันที่ 12 มีนาคมเดือนเดียวกัน แต่ล่าสุดก็มีการเลือนออกไปอีก ยังไม่สรุปว่าจะเป็นวัน-เวลาไหน

ในการนำเสนอแผนงานในครั้งนี้ นอกจาก จ.อุดรธานี จะเสนอแผนการจัดงานพืชสวนโลก ขนาด บี. พ.ศ.2569 บริเวณที่สาธารณประโยชน์หนองแด อ.เมือง แล้ว ยังมี จ.นครราชสีมา เสนอจัดงานพืชสวนโลก ขนาด เอ. พ.ศ.2572 เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งคณะกรรมการอาจจะเลือกทั้ง 2 จังหวัด หรือเลือกจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หากเลือกอุดรธานี ก็จะต้องเสนอต่อ ครม.ของบประมาณ และไปเสนอต่อเจ้าของงาน ซึ่ง จ.อุดรธานีมีคู่แข่งคือ “ประเทศตุรกี”

ในการเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอ แบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1.ความพร้อมและศักยภาพ โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัด อุดรธานี, 2. รายการจัดงานและรายละเอียดงาน โดย พ.ต.วรายุติ ตรีวัฒนสุวรรณ รองประธานสภาอุตสาหกรรม อุดรธานี , 3.ประโยชน์ที่จะได้รับ โดย พ.ต.วรายุต์ฯ และ 4.งบประมาณ และการบริหารพื้นที่หลังจบงาน โดยนายวีเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี

งานพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ.2569 ยังคงใช้ตีมงาน “ชีวิต สายน้ำ และพืชพันธุ์” ซึ่งการนำเอาเรื่อง “พืชน้ำ” ขึ้นมาเป็นจุดเด่นในครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกของงานพืชสวนโลก แต่ยังคงมีปัญหาข้อมูล “พืชสวน” ของอุดรธานีที่มีจำนวนน้อย และยังไปซ้ำกับพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา ขอให้เร่งรัดเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะพืชน้ำนานาชนิด ที่ชาวอีสานให้บริโภค มีประโยชน์ด้านอาหาร และสมุนไพร ตลอดจนความสวยงาม

สำหรับงบประมาณที่ขอรวม 2,500 ล้านบาท ในการจัดงานทั้งหมด ไม่ของบประมาณเพิ่มเติม ในการบริหารจัดการหลังจัดงานแล้ว โดยกำหนดแนวทางไว้คือ 1.รายได้จากการจัดงาน จะนำมาเป็นทุนเบื้องต้น ในการบริหารจัดการให้ยั่งยืน , มีการจัดหารายได้จากสถานที่จัดงาน ในรูปแบบ “มูลนิธิ” ให้กรรมการกำหนดนโยบาย แล้วหามืออาชีพมาบริหารงาน และการสนับสนุนจาก อปท.แบบลงขัน

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments