ภูฮ่อม 13 , 15 ปริมาณก๊าซลด ต้องเจาะเพิ่มปีนี้อีก 2 หลุม ส่งป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพอง จับตาก๊าซสำรองมีใช้ได้อีก 10 ปี แต่โรงไฟฟ้ามีอายุ 30 ปี
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทารา ทน.อุดรธานี นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ โครงการพัฒนาแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี มีนายปรศักดิ์ งามสมภาค หัวหน้ากลุ่มกำกับกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ , นายยงยศ วุฑฒิโกวิทย์ พลังงาน จ.อุดรธานี , นายสมัคร บุญปรก รอง นายก อบจ.อุดรธานี และคณะกiรมการฯ ร่วมรับฟังรายงาน ของนายอารยะ แช่มทิม ผจก.แท่นผลิตโครงการสินภูฮ่อม พร้อมคณะ และที่ปรึกษา
นายอารยะ แช่มทิม ผจก.แท่นผลิตโครงการสินภูฮ่อม แจ้งว่า ในปีที่ผ่านมาผลของการเจาะก๊าซที่ ฐาน C หลุมภูฮ่อม 13 และ ภูฮ่อม 15 ปริมาณก๊าซลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นข้อจำกัดของแหล่งก๊าซที่ภาคอีสานบางจุด (หลุมเจาะมีความลึกมาก และการลงทุนสูง แต่มีความเสี่ยงเรื่องปริมาณ) ทำให้ภาพรวมทั้งปริมาณก๊าซ ฐาน A หลุมภูฮ่อม 5 , ฐาน B หลุมภูฮ่อม 3 และ ฐาน C หลุมภูฮ่อม 4 , 11 , 13 , 15 มีปริมาณลดลง ทำให้ปีนี้จะมีการเจาะเพิ่มอีก 2 หลุม คือ ที่ฐาน B ภูฮ่อม 16 โดยมีแผนจะเริ่มในอีกไม่กี่เดือน และที่ฐาน D ภูฮ่อม 14 (ทางขึ้นภูฝอยลม) ต่อเนื่องกัน นอกจากนี้จะมีการวางท่อก๊าซจากฐาน D ไปเชื่อมกับท่อก๊าซชุดเดิม
“ จากเหตุการณ์จุดเจาะก๊าซ และจำเป็นต้องเผาทิ้ง เพื่อลดผลกระทบ แต่ก็ยังส่งผลกระทบกับพระสงฆ์ และประชาชน ในปี 2562 ปตท.สผ.ได้เข้าติดตามดูแลสุขภาพต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันไม่พบอาการผิดปกติ จากบทเรียนในครั้งนั้นทำให้ปรับช่วงเวลาการเจาะ เพื่อสอดรับกับทิศทางลม ไม่พัดไปยังพื้นที่ตั้งวัด หรือบ้านเรือนประชาชน ทำให้การเจาะก๊าซในปี 2563 ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด และได้นำเอาวิธีดังกล่าว มาใช้กับการเจาะใน 2 หลุมในปี 2564 ”
นายปรศักดิ์ งามสมภาค. หัวหน้ากลุ่มกำกับกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แหล่งก๊าซภูฮ่อม และโรงแยกก๊าซที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ถือเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของภาคอีสาน แม้จะมีพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เข้ามาช่วย แต่มีปัญหาเรื่องของราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้โรงแยกก๊าซที่ อ.น้ำพอง หมดอายุหลังใช้งานมาแล้วกว่า 30 ปี จึงต้องก่อสร้างโรงแยกก๊าซขึ้นมาทดแทน ซึ่งโรงแยกก๊าซมีอายุใช้งาน 30 ปีเช่นกัน แต่ปริมาณก๊าซสำรองที่ผลิตได้ ในหลุมที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถใช้งานไปอีก 10 ปี และยังมีปริมาณที่ลดลง จึงมีความจำเป็นต้องเจาะก๊าซเพิ่ม