นัดแรกประชุมคณะทำงานรัฐ-ชาวบ้าน คุยโรงไฟฟ้าผสมผสานชีวะมวล 20 เม็กมะวัตต์ อ.หนองหาน อุดรธานี ทุกฝ่ายยอมรับใกล้ชุมชน-โรงเรียน ขณะตัวแทนชาวบ้านขอเพิ่มสัดส่ง และเลื่อนการทำประชาพิจารณ์ จนกว่าจะทำความเข้าใจชาวบ้าน หากไม่เลือนจะถอนตัวไม่ทำงานร่วม
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ตุลาคม 2561 ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 อาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงาน และผลกระทบในด้านต่างๆที่เกิดจากโรงไฟฟ้าชีวะมวล ของ บ.ไทยโก้ เทคโนโลยี จก. กม.26-27 ถ.นิตโย บ.ป่าก้าว ต.ผักตบ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี (ครั้งแรก) โดยมีนายเจษฎา ปานะถึก ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี นำคณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้งจากนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานีเข้าร่วมประชุมโดยคณะทำงานประกอบด้วย นายอำเภอหนองหาน , สาธารณสุขจังหวัด , พลังงานจังหวัด , อุตสาหกรรมจังหวัด , โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด , ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด , ท้องถิ่นจังหวัด , สิ่งแวดล้อม ภาค 9 , มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี , นายกเทศบาลตำบลผักตบ , นายก อบต.หนองหาน , กำนัน ต.ผักตบ ต.หายโศก ต.หนองไผ่ ต.หนองหาน ต.โพนงาม และตัวแทนชาวบ้าน 3 คน คือ นายคำปลาย คำแพงราช , นายทวี เนตรไธสงค์ นายประจวบ รสดี ขณะที่มีชาวบ้านอีกกว่า 20 คนขอเข้าประชุมด้วย
นายเจษฎา ปานะถึก ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี แจ้งถึงคณะกรรมการกิจการพลังงาน ได้เห็นชอบให้ บ.ไทยโก้ เทคโนโลยี จก. ขายไฟฟ้าที่ได้จากโรงงานไฟฟ้าผสมผสาน ชีวะมวล 70 เปอร์เซนต์ กับอาร์ดีเอฟ 30 เปอร์เซนต์ กำลังผลิต 20 เม็กกะวัตต์ แบบต่อเนื่อง ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีเวลาเริ่มแผนงาน 2 ปี และได้มีเลือกพื้นที่ริมถนนนิตโย บ.ป่าก้าว ต.ผักตบ อ.หนองหาน อยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นการรับฟังความเห็น เหตุการณ์ที่ชาวบ้านคัดค้าน จนไม่สามารถจับทำเวทีได้ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี จึงแต่งตั้งคณะทำงานนี้ขึ้นมา
นายคำปลาย คำแพงราช อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านผักตบ แกนนำชาวบ้านคัดค้านโครงการ กล่าวว่า อยากมีการเพิ่มเติมคณะทำงาน ในสัดส่วนชาวบ้านที่อยู่เพียง 3 คน ในรัศมีผลกระทบ 5 กม. อีก 22 คน ที่มีทุกหมู่บ้าน ต.ผักตบ บางหมู่บ้านของ ต.โพนงาม ต.หนองหาน ส่วน ต.ดอนหายโศก ต.หนองไผ่ ไม่มีบ้านเรือนประชาชน และขอให้เลื่อนการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่เอกชนจะจัดในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ออกไปจนกว่าคณะทำงาน จะมีมาตรการทำความเข้าใจประชาชน ถ้าไม่เลื่อนตัวแทนชาวบ้านจะถอนตัว จากคณะทำงานเพื่อไปต่อสู้หนทางอื่น
นายประจวบ รสดี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า เมื่อรู้ว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านได้ร่วมกลุ่มกันหาข้อมูล และเดินทางไปที่โรงไฟฟ้าชีวะมวล อ.พล จ.ขอนแก่น ไม่ได้เข้าไปดูโรงไฟฟ้า แต่ไปพูดคุยกับชาวบ้านรอบๆ ชาวบ้านที่นั้นเดือดร้อนจาก เสียง กลิ่น ควัน และน้ำ ไม่มีความสุขเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งอพยพไปอยู่ที่อื่น ที่ทนอยู่เพราะไม่มีที่ไป ชาวบ้านที่นั่นบอกว่าถ้าเขาจะมาสร้างอย่าให้สร้าง พอกลับมาดุโรงไฟฟ้าชีวะมวลที่อุดรธานี ก็มีสภาพที่ไม่ต่างกัน
ขณะหน่วยงานราชการ ผู้นำท้องที่ และท้องถิ่น มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน และชุมชนเพียง 200 เมตร อยากจะให้โรงงานไปหาที่ใหม่ หรือย้ายออกจาก อ.หนองหาน , การที่โรงไฟฟ้ามาตั้งบริเวณนี้ เพราะใกล้ฟีดเดอร์การไฟฟ้าใช่หรือไม่ , ทำไมโรงไฟฟ้าต้องเร่งทำเวทีรับฟังความคิดเห็น เลื่อนออกไปเพื่อทำความเข้าใจชาวบ้านก่อนได้หรือไม่ และอยากให้มีตัวแทนของโรงไฟฟ้า เข้ามาอยู่ในคณะทำงาน เพื่อชี้แจงและตอบคำถาม เกรงจะเอาไปอ้างว่าถูกปิดกั้น
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า เป็นการประชุมครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้ทำความเข้าใจกันทุกฝ่าย โดยอุดรธานีมีปัญหาใหญ่อยู่มาก ที่พร้อมจะขยายวง ทุกคนกำลังจับตามองเราอยู่ ไม่ให้เราออกนอกลู่นอกทาง จึงขอให้มั่นใจในการทำงานร่วมกัน ซึ่งในวันนี้จะมีการสรุปข้อเสนอ ให้ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พิจารณาตัดสินใจ หวังว่าเราจะร่วมกันทำงานไปด้วยดี
โดยเรื่องที่จะนำไปพิจารณาประกอบด้วย การเพิ่มสัดส่วนของตัวแทนชาวบ้าน , การเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไป จนกว่าคณะทำงานเห็นว่าสมควรแล้ว , การเพิ่มผู้ประกอบการเข้ามาในคณะทำงาน เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างไม่มีช่องทางชี้แจง และข้อห่วงใยต่างๆ ทั้งนี้คณะทำงานชุดนี้จะมีการประชุมเดือนละ 2 ครั้ง และจะประชุมในรูปแบบประชุมสภาฯ เพื่อให้การประชุมกระชับ…..