วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมรมว.เกษตรสั่งเพิ่มเก็บน้ำในอ่างฯ

รมว.เกษตรสั่งเพิ่มเก็บน้ำในอ่างฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง ต.โคกสะอาด อ.เมือง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุม ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสาน โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.อุดรธานี นำหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า พื้นที่อุดรธานีเปรียบเหมือนแหล่งผลิตน้ำ แต่ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้เต็มที่ ในช่วงฤดูฝนน้ำมากจนท่วม รอการระบายลงสู่ลำน้ำสาขา และส่วนใหญ่ลงสู่แม่น้ำโขง อีกส่วนไหลลงไปลำน้ำปาว ผ่านเข้าในภาคอีสาน ขณะนี้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งอุดรธานีขอให้มีการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำห้วยห้วงตอนกลาง คือจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ไปจนถึงประตูน้ำลำห้วยหลวง ที่ ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 30-35 % เท่านั้น ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า พายุโซนร้อน “โพดุล” ก่อตัวที่ทะเลจีนใต้ และกำลังเคลื่อนเข้าหาเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคอีสาน และภาคเหนือ วันที่ 29-31 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคอีสาน และอ่างฯเก็บน้ำสำคัญเกือบทั่วประเทศ ส่วนการบริหารจัดการน้ำ แต่ละแห่งจะเรียงลำดับความสำคัญ อาทิ เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ส่วนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตัวแทนกรมชลประทาน ชี้แจงว่า พื้นที่ห้วยหลวงตอนล่าง ประสบปัญหาฤดูฝนน้ำท่วม ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ฤดูแล้งต้องสูบน้ำจากลำห้วย ขึ้นมาทำการเกษตรจนน้ำแห้ง โครงการฯอยู่ในพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย ครอบคลุมพื้นที่ 37 ตำบล ดำเนินโครงการระหว่างปี 61-69 งบประมาณ 21,000 ล้านบาท สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูแล้ง 250,000 ไร่

“ โครงการนี้มี 6 แผนงาน ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ในส่วนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ที่จะสามารถสูบน้ำลงสู่แม่น้ำโขง หรือสูบกลับมาเติมในลำห้วยหลวง ปริมาณสูงสุด 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ควบคุมน้ำไม่เกิน 160 รทก. , สร้างพนังกันน้ำป้องกันน้ำท่วม และสร้างประตูควบคุมน้ำ 3 แห่ง การดำเนินโครงการช้ากว่าแผนงานเล็กน้อย “

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ดีใจที่อุดรธานีและหลายพื้นที่ฝนตกแล้ว บางพื้นที่ยังต้องการน้ำ บางพื้นที่น้ำเกิน เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ร้อยเปอร์เซนต์ จึงจะต้องจัดการน้ำด้วยการเตรียมการ ทำให้เราไม่ได้รับความเสียหาย หรือเสียหายน้อยที่สุด ปีก่อนที่อุดรธานีมีน้ำมาก แต่เราใช้จนน้ำหมด ทำอย่างไรเราจะสำรองน้ำไว้ในแต่ละอ่างฯ ช่วงแล้งให้ได้ 20 % ฉะนั้นการบริหารน้ำต้องมีความชัดเจน ซึ่งต้องร่วมมือกันทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่

“ อ่างฯห้วยหลวงสร้างมาเมื่อปี 17 ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้การจะก่อสร้างอ่างฯเป็นเรื่องใหญ่ การพัฒนาหรือบูรณะพื้นที่เดิมจึงต้องทำให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น อยากจะให้ทุกอ่างฯคิดถึง การเพิ่มระดับเก็บกักในพื้นที่เดิมอีก 20-30% อ่างฯห้วยหลวงถ้าเพิ่มได้ 20 % ก็จะได้นำผลิตประปาพอดี ทำได้หรือไม่ให้ไปศึกษาระเบียบพัสดุ การแลกเปลี่ยนมูลดินที่ขุดลอก ซึ่งบางพื้นที่ก็คงไม่เหมือนกัน ในความต้องการดิน ในสภาพเศรษฐกิจโลกแบบนี้ ต้องใช้เงินให้คุ้มค่า แต่มีความเดือดร้อนมาก ๆ ก็ต้องหาเงินมาแก้ไข “

จากนั้น นายเฉลิมชัยฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจตัวอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำ 135 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มขึ้นเป็น 43.76 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32.3 เปอร์เซ็นต์ของความจุ จากเดิมที่ก่อนฝนตกเมื่อ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีน้ำเหลือเพียง 28 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น และยังคงมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ต่อเนื่อง จากนั้นได้พบปะเกษตรกรในพื้นที่ โดยได้ชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำ และผลผลิตทางการเกษตร ในการเพิ่มมูลค่า เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีฝนตกลงมา มีน้ำเข้าตามเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ ที่มีฝนตก มีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ ถึงจะยังไม่มากตามเป้า แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้จะมีพายุเข้า ที่คาดว่าจะเติมน้ำให้เพิ่มมากขึ้นในภาคเหนือและอีสาน น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งตอนนี้น้ำอุปโภคบริโภคเราไม่ขาดแน่ แต่น้ำที่จะทำการเกษตร ต้องดูอีกว่าน้ำจะได้มากหรือน้อย ซึ่งได้ให้ทุกเขื่อนและทุกอ่าง ทำแผนบริหารจัดการน้ำให้ถึงแล้งหน้าให้ได้ รวมทั้งบูรณาการทั้งน้ำแล้งน้ำท่วม ให้ทำแผนพร้อมกัน เพราะภัยธรรมชาติเราไม่สามารถคาดการณ์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องราคาข้าวเหนียวที่สูงในขณะนี้ จะแก้ไขอย่างไรได้ นายเฉลิมชัยฯ ตอบว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการเช็คสต๊อคข้าว ให้ทางพาณิชย์จังหวัด และ ผวจ.ลงมาร่วมดู ปัญหาน่าจะมีในช่วงต้นนี้ แต่คนเชื่อว่าปัญหาตรงนี้จำได้รับการแก้ไขอย่างเร็ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการด้วย ส่วนที่ชาวนาที่มีข้าวเหนียวเก็บไว้กิน ทราบว่าตอนนี้มีบางส่วนที่นำข้าวออกมาขายแล้ว เพราะได้ราคาดี……

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments