เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 วันแรกหลังจาก “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ” อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่กรมศิลปากรประกาศงดเก็บค่าเข้าชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตั้งแต่ 28 ก.ค.-12 ส.ค.2567 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และรถตู้โดยสารของทัวร์ท่องเที่ยว เดินทางขึ้นไปที่อุทยานประวัติศาสตร์มากกว่าปกติ โดยจุดที่นักเที่ยวไปหยุดถ่ายภาพมากที่สุดคือ วัฒนธรรมสีมา แลนด์มาร์ค “หอนางอุษา”
นายมนัสวิน นาคศิริ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดเผยว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมปีละ 3-4 หมื่นคน วันนี้มีนักท่องเที่ยวชาวไทย ทะเบียนรถมาจากหลายจังหวัด ทยอยเดินทางมาที่อุทยานฯ มากกว่าปกติ 5-6 เท่าตัว อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่มีนิทรรศการให้ได้เข้าชมและศึกษา ก่อนเข้าไปในพื้นที่กลุ่มวัฒนธรรมสีมา ลานจอดรถ ห้องสุขา และบริการส่วนอื่นๆ รวมทั้งมัคคุเทศก์ 4 ท่าน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ดี เพราะเป็นการหมุนเวียนมาตลอดทั้งวัน
นายจรูญ บุหิรัญ นายอำเภอบ้านผือ เปิดเผยว่า อำเภอบ้านผือมีความพร้อม ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวมาภูพระบาทเพิ่มขึ้น เพราะปกติเราก็อยู่ในเส้นทาง อุดรธานี-วัดป่าบ้านค้อ-หลวงพ่อนาค-ภูพระบาท-วัดป่าภูก้อน(อันซีน)-บ้านคีรีวงกต-วัดผาตากเสื้อ(อันซีน)-เชียงคาน-เลียบน้ำโขงอยู่แล้ว ก็จะเตรียมบูรณาการกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ , อส. , กำนัน-ผญบ. และ อพปร. ช่วยเพิ่มงานอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็เตรียมพูดคุยกับผู้ประกอบการต่างๆ ร่วมกันเจ้าบ้านที่ดีรับนักท่องเที่ยว พร้อมระบุว่า “อาจจะต้องหาสถานที่จอดรถเพิ่ม”
นายเตชินทร์ แสงสอดแก้ว ประธานชมรมไทยพวน อ.บ้านผือ เปิดเผยว่า เมื่อวานก็ไปร่วมกิจกรรมที่อุทยานฯ ติดตามการถ่ายทอดการประชุมจากอินเดีย ก่อนไปมั่นใจว่าได้เป็นมรดกโลกแน่นอน แต่พอประชุมพิจารณาไป 2 แหล่ง ก็รู้สึกว่าไม่มั่นใจแล้ว เพราะกรรมการตั้งข้อสังเกตุมาก จนมาถึงของเราไม่มีใครตั้งข้อสังเกตุดีใจมาก ก็คือเราได้เป็นมรดกโลก แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจะมากขึ้น โดยอำเภอบ้านผือมีความพร้อม ทั้งในพื้นที่อุทยานฯ , ถนนหนทาง , ร้านอาหาร , ร้านกาแฟ , ห้างสรรพสินค้า , โรงแรม และรีสอร์ต อีกทั้งเป็นเส้นทางเชื่อมไปแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
“ ชาวไทยพวนในอำเภอบ้านผือ ดำเนินชีวิตผูกพันกับภูพระบาท มีเอกลักษณ์ในการสวมใสเสื้อผ้า มีสำเนียงการพูดไทยพวนมีเสน่ห์ จะดึงดูดผู้คนเดินทางมาเยือนไม่น้อย ที่นี่ยังมีอาหารถิ่นเป็นเอกลักษณ์ หรือ โหย่ยหมูสุดแสนอร่อย ตอนนี้มีถึง 7 ร้าน และของฝาก อาทิ ข้าวเม้า , ข้าวแต๋น , ข้าวโป่ง (ข้าวเกรียบว่าว) รวมทั้งผ้าทอมือ ผ้าขาวม้า แบบไทยพวน วันนี้ได้คุยกับผู้ประกอบการรถโดยสาร อยากเสนอให้มีการเดินรถสายสั้นๆ จาก อ.บ้านผือ ไปบ้านติ้ว แล้วขึ้นไปภูพระบาท เพราะมีคนสอบถามเ ข้ ามามากว่า หากนั่งรถโดยสารมาที่ อ.บ้านผือ แล้วจะขึ้นภูพระบาทได้ยังไง ”
นายสวาท ธีรรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย (ประธานหอการค้าอีสาน) เปิดเผยว่า ไปเที่ยวที่ภูพระบาทล่าสุดหลายปีแล้ว อีกทั้งมีเสียงสะท้อนดีๆออกมา เรื่องของความพร้อมสถานที่ รับนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศและวัย เมื่อได้เป็นมรดกโลกถือเป็นข่าวดีมาก นักท่องเที่ยวจะมากขึ้นแน่นอน คนในชุมชนน่าจะมีรายได้เพิ่ม ทั้งจากทางตรงบนภูพระบาท การเพิ่มมัคคุเทศก์ชุมชน เพราะภูพระบาทนอกจากธรรมชาติ วัฒนธรรมสีมา ยังมีตำนานพื้นบ้าน “อุษา-บารส” ต้องอาศัยคนเล่าเรื่องดีๆน่าเชื่อถือ และทางอ้อมในภาคบริการอื่นๆ รวมไปถึงสภาพภูพระบาทอยู่บนภูเขา สภาพภูมิประเทศซับซ้อน สัญญานโทรศัพท์มีปัญหา ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการปรับปรุง คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์จะเสร็จ ให้สามารถเซลฟี่และไลด์สดได้
น.ส.ณัฐนันท์ ธนะเธียรานันท์ หจก.บานาน่า 124 ผู้ก่อตั้ง UDONTHANI MAP MUANG กล่าวว่า UDONTHANI MAP MUANG ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเมืองที่รวบรวมข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นของ จ.อุดรธานี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของภูพระบาทในครั้งนี้ โดยการจัดทำแผนที่ดิจิทัลและข้อมูลรายละเอียดบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในบริเวณใกล้เคียง และข้อมูลที่จำเป็นกับนักท่องเที่ยวร้านอาหาร โรงแรมที่พัก แหล่งช้อปปิ้ง ร้านค้าชุมชน รวมทั้งข้อมูลความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ร้านขายยา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวมิติใหม่ และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยสามารถเข้าถึง UDONTHANI MAP MUANG ได้จากลิ้งก์ https://mapmuang.com/udonthani….