วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมยืนยันจัดแน่พืชสวนโลกอุดรธานี

ยืนยันจัดแน่พืชสวนโลกอุดรธานี

เปิดผังแม่บทพืชสวนโลกอุดร รับฟังความคิดเห็นก่อนสรุป รักษาความเป็นป่าบุ่ง-ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำอีสาน ห่วงภาพเกินจริงทำไม่ได้ ปัญหาดินเค็มไม่ขุดลึกเพิ่ม-น้ำเค็มเติมน้ำฤดูแล้งให้เจือจาง กรมวิชาการเกษตรเหมาตีปีบ 48 ล้านบาท

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ เทศบาลนครอุดรธานี นายณฐพล วิถี รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น การออกแบบผังแม่บท โครงการสร้างพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี ที่จะมีขึ้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ต.กุดสระ อ.เมือง อุดรธานี ระหว่าง 1 พ.ย.69-14 มี.ค.70 ภายใต้แนวคิด “สายน้ำ วิถีชีวิต พืชพรรณ”

โดยมีทีมสถาปนิก-วิศวกรจาก บ.ร่วมค้า 110 พีแอล จก. นำเสนอว่า “พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด” 1,030 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนพื้นที่จัดงาน 491 ไร่ และพื้นที่รักษาสภาพ-ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ-ปลูกไม้คาร์บอนเครดิต 533 ไร่ น้ำไหลเข้าด้านทิศตะวันตก และมีน้ำผันจากอ่างฯห้วยหลวง-อ่างฯหนองสำโรง-หนองแด มาในช่วงฤดูแล้ง และไหลออกด้านทิศตะวันตก ผ่านประตูควบคุมน้ำของชลประทาน

ทางเข้า-ออกอยู่ด้านถนนมิตรภาพ (อุดร-หนองคาย) เป็นทางเข้า-ออกหลัก เพื่อส่งและรับนักท่องเที่ยว พร้อมสร้างสถานีรถไฟเที่ยวพิเศษอุดรฯ-หนองแด บริเวณนี้จะเป็นส่วน “พักคอย” รอเข้าไปในงาน จุดนี้ต้องผ่านทางรถไฟอุดร-หนองคาย (โดยยังไม่สร้างรางคู่และความเร็วสูง) ด้วยการเดินข้ามสะพานผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเข้าไปยังอาคารประชาสัมพันธ์ (อาคารไหบ้านเชียง) และถนนให้รถผ่านในช่วงจัดงานเฉพาะ จนท.

ถนนในพื้นที่จะกว้าง 7 เมตร เที่ยวชมงานได้ทั้งซ้ายและขวา แล้ววนกลับมาจุดเริ่มต้น ระยะทาง 400 เมตรเศษ ผ่านอาคารเฉพาะพระเกียรติ 2 ชั้น เป็นพิพิธภัณฑ์ และจัดนิทรรศการ , อาคารอำนวยการ “อาคารรูปไซ” เป็นอาคารเอนกประสงค์ จัดนิทรรศการ , อาคารหมู่บ้านอีสาน(พื้นที่การแสดง) , อาคารสวนนานาชาติ , อาคารเรือนกระจก , อาคารชมวิว และอาคารร้านอาหาร-ห้องสุขา

โดยรอบอาคารมีการปลูกต้นไม้ และจัดสวนต่างๆ เป็นไม้พื้นถิ่น 80 % ที่เหลือเป็นไม้ต่างถิ่น สำหรับไม้อุดรธานี จะเป็นทองกวาว (ดอกไม้ประจำจังหวัด) ป่าต้นรัง(ต้นไม้ประจำจังหวัด) , จำลองป่าชะโนด และจำลองป่าบุ่ง-ป่าทาม ขณะที่สวนมีความหลากหลาย ทั้งสวนธีม , สวนไทย 4 ภาค , สวนบัวแดง-บัวนานาชนิด , สวนดอกไม้เป็นอาหารและยา , สวนริมน้ำ(ไม้ด่าง-ไม้สี) , สวนผัก , สวนผักลอยน้ำ , นาข้าว และสวนองค์กร 26 แปลง

ทั้งนี้การก่อสร้างอาคารจะเสร็จใน 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ส่วนการบริหารหลังจัดงาน จะยังคงอาคารทุกหลัง และจุดที่เป็นแลนด์มาร์ค อาทิ บริเวณสวนนานาชาติ ถือเป็นจุดสวยที่สุดเอาไว้ ให้ใช้ในการจัดนิทรรศการ , กิจกรรมการท่องเที่ยว-นันทนาการ , แข่งขันกีฬากลางแจ้ง-ในร่ม-ทางน้ำ และปรับพื้นที่บางส่วนเป็นลานจอดรถ อาทิ แปลงปลูกพืชไร่ใกล้กับอาคารหมู่บ้านอีสาน

ขณะที่ผู้เข้าร่วมเวทีมีข้อห่วงใยว่า ภาพเปอร์สเปคทีฟที่นำมาอธิบาย มันมีความสวยงามมาก เกรงว่าเมื่อสร้างและตกแต่งแล้วจะไม่สวยงามเท่านั้น อาทิ จำนวนต้นไม้ที่เขียวเต็มพื้นที่ หรือภาพดอกทองกวาวที่สวยมาก แต่ความจริงจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ , ไม่มีการขุดลอกหนองแดเพิ่มความลึก แต่จะลดความสูงของคัดดินรอบลง จึงไม่ส่งผลกับดินเค็มด้านล่าง

ตามด้วยคำถาม เรื่องงานประชาสัมพันธ์มีน้อยมาก คนในพื้นที่ไม่มีใครรู้เรื่อง แล้วคนทั่วโลกจะรู้ได้อย่างไร ได้รับคำตอบจากกรมวิชาการเกษตรว่า กำลังจัดทำงบรวม 48 ล้านบาท ไม่นานงานประชาสัมพันธ์ก็ออกมา (ยืนยันกรมทำเอง) และน้ำในหนองแดช่วงฤดูแล้งจะเค็ม จะนำน้ำจากอ่างฯหนองสำโรงมาเติม ทำให้เจือจางลงจะมีผลเฉพาะ “กลุ่มกล้วยไม้”

นายณฐพล วิถี รอง ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ ผู้ศึกษาจะนำเอาความเห็น ความห่วงใยของประชาชน ไปรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการจังหวัด ประกอบการส่งมอบงานงวดสุดท้าย ภายใน 6 เม.ย.นี้ ขณะเดียวกันเรากำลังเตรียมหาผู้รับจ้าง เข้ามาปรับพื้นที่ตามผังแม่บท คาดว่าจะเริ่มงานได้ต้น พ.ค.นี้ จากนั้นงานก่อสร้างอาคารก็จะตามมา

“ มีข่าวสับสนไปบ้างหลังจากไปประชุม กับสมาคมพืชสวนนานาชาติที่โดฮา ความจริงคืออุดรธานีไปรายงานความคืบหน้า การเตรียมจัดงานที่อุดรธานีปี 69 ขณะที่นครราชสีมาไปเสนอตัวขอจัดงานในปี 72 อุดรธานีก็ยังยืนยันว่าจัดงานตามกำหนดเดิมแน่นอน ที่ผ่านมาติดปัญหากันอยู่ ในเรื่องของงบประมาณปี 67 ล่าช้า ถึงวันนี้ชัดเจนแล้ว ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments