วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมสูบน้ำทำนาปรังลำห้วยหลวงแห้งเป็นช่วง

สูบน้ำทำนาปรังลำห้วยหลวงแห้งเป็นช่วง

ชาวบ้านริมลำน้ำห้วยหลวง ยังต้องทำนาปรังไว้กินทั้งปี เหตุน้ำท่วมทำนาปีไม่ได้ กำลังประสบภัยแล้งที่สุด น้ำในลำห้วยที่เคยสูบเลี้ยงต้นข้าวทุกปี กลับลดลงเหลือน้ำขังเป็นแอ่ง ไม่พอหล่อเลี้ยงช่วงตั้งท้อง ชป.อุดรธานีลงสำรวจเตรียมช่วย ข้าวรอด-ประปารอด-ระบบนิเวศน์รอด

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผอ.โครงการชลประทานอุดรธานี นายสมพร คมขำ หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำ เดินทางสำรวจลำน้ำห้วยหลวง จากประตูระบายน้ำ บ.สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี ไปจนถึง บ.ท่าหลักดิน ม.4 ต.นาบัว อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี หลังจากได้รับการร้องขอจาก “ชาวนา” บ.ท่าหลักดิน ให้เปิดประตูระบายน้ำ บ.สามพร้าว ระบายน้ำลงมาช่วยข้าวนาปรังที่กำลังตั้งท้อง เพราะน้ำในลำน้ำห้วยหลวงใกล้แห้งแล้ว

ที่ประตูระบายน้ำ บ.สามพร้าว ประตูถูกปิดลงทั้งหมด ระดับน้ำอยู่หน้าประตูลึก 3 เมตร สามารถกักน้ำไว้ในลำห้วย ย้อนหลังกลับไปได้ไกล 10 กม. บริเวณประตูระบายน้ำ มีสถานีสูบน้ำไปผลิตน้ำประปา 1 แห่ง โดยทำการเปิดประตูเล็กน้อย 1 บาน เพื่อระบายน้ำออกมารักษาสิ่งแวดล้อม จากสถิติย้อนหลังพบว่า ระดับน้ำจะอยู่เท่านี้ตลอดแล้ง จนถึงเดือนมิถุนายนจะเริ่มระบายน้ำออก เพื่อพร้อมน้ำรอรับฝนใหม่จะเข้ามา

ขณะตลอดลำห้วยหลวง จะมีสภาพเป็นแอ่งน้ำลึกเป็นช่วงๆ สามารเก็บกักน้ำไว้พอสมควร จะมีเกษตรกรสูบน้ำขึ้นมาทำการเกษตร ปลูกพืชฤดูแล้ง พืชผัก แตงโม และนาปรัง ที่ยังมีอยู่ตลอดแนว ขณะที่หลายจุดมีฝายกึ่งถาวร และชั่วคราว กักเก็บไว้เพื่อสูบน้ำใช้ประโยชน์ อาทิ ฝายหลังวัดโพธิศรีสว่าง บ.ว่าน ม.5 ต.สร้างแป้น อ.เพ็ญ เป็นฝายกึ่งถาวรเดิมเป็นทางรถผ่าน สร้างเป็นคันฝายกว้าง 4 เมตร เรียงด้วยหินใหญ่เทคอนกรีตทับ เก็บน้ำไว้เต็มระดับพอดี และมีน้ำรั่วตามรอยหินหลายจุด

สำหรับลำห้วยหลวงบริเวณ บ.ท่าหลักดิน ระดับน้ำลดลงมากจนเห็นสันดิน แยกน้ำออกไปเป็นแอ่งๆ ใหญ่บ้านเล็กบ้าง เหลือน้ำลึกมากที่สุดราว 1 เมตร ขณะตลอดริมลำน้ำ 2 ฝั่ง ชาวบ้านจะนำเครื่องสูบน้ำ ต่อท่อ พีวีซี.ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 8 เครื่อง สูบน้ำเข้าไปนาข้าวตนเอง และสมาชิกกลุ่ม โดยน้ำที่สูบขึ้นไปจะมีประตูน้ำแบบ “สต็อบล็อค” เพื่อเปิดน้ำไหลต่อไปยังนาข้าวแต่ละแปลง ผ่านร่องน้ำเล็กๆ โดยนาข้าวอยู่สองข้างลำน้ำกว้างกว่า 500 ม.ตลอดแนว

นายบุญรอง หอมหวน ผช.ผญบ.ท่าหลักดิน (093-4207366) เปิดเผยว่า ชาวบ้านทำนาปรังเป็นวิถีชีวิต เพราะในฤดูฝนจะมีช่วงน้ำหลาก ข้าวนาปีจะได้รับความเสียหาย หากเราไม่ทำนาปรังก็ไม่มีข้าวกิน ซึ่งทุกปีก็สูบน้ำจากลำห้วยหลวง ขึ้นมาทำนาปรังแบบนี้ น้ำก็มีเพียงพอตลอดการปลูก แต่ปีนี้แล้งรุนแรงที่สุด ระดับน้ำต่ำที่สุดที่เคยเกิดขึ้น เทียบกับปีก่อนชายน้ำจะต่ำกว่า 1 เมตรเศษ และน้ำที่สูบเข้าไปใส่นาข้าว ก็ลดลงเร็วกว่าปกติ

“ นาปรังบางส่วนเก็บเกี่ยวแล้ว แต่ส่วนใหญ่มีอยู่ราว 1,000 ไร่เศษ ยังต้องการใช้น้ำอีก 20-30 วัน แต่น้ำที่เหลืออยู่ไม่น่าจะพอ และจะไม่มีน้ำไหลมาเพิ่ม เพราะต้นน้ำก็มีนาปรังใหม่ ปลูกเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนใช้น้ำเหมือนกัน เห็นว่าน้ำที่ประตูน้ำบ้านสามพร้าว ยังมีน้ำกักอยู่มาก จึงไปขอให้ชลประทาน จ.อุดรธานี เปิดประตูระบายออกมาช่วย หากไม่มีน้ำมาช่วยช่วงท้าย ข้าวที่ออกรวงแล้วก็จะเสียหาย ”

นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผอ.โครงการชลประทานอุดรธานี เปิดเผยว่า สภาพลำน้ำห้วยหลวง จะมีน้ำขังในแอ่งเป็นช่วงๆ บางจุดมีฝายกึงถาวรกั้นอยู่ ชาวบ้านก็จะสูบน้ำช่วงนั้นไปทำนาปรัง ขณะนี้ บ.ท่าหลักดิน และ บ.หนองผักแว่น ต.บ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ ต้องการน้ำเพิ่มในลำห้วย เพื่อสูบเข้าไปให้ข้าวนาปรัง จากการมาสำรวจเบื้องต้น ถ้าระบายน้ำมาจะถึงหรือไม่ เพราะอาจจะถูกกักอยู่ตามจุดต่างๆ และระบายแล้วจุดนั้นจะขาดน้ำหรือไม่

“ ประมงเองก็มีความห่วงใยว่า ไม่ต้องการให้ลำห้วยหลวงแห้ง เพราะจะทำให้ระบบนิเวศน์ และพันธุ์ปลาสูญพันธุ์ จึงต้องพิจารณากันอย่างรอบครอบ อาจจะเป็นการทยอยระบายน้ำ จากเหนือน้ำที่ใกล้ที่สุด อาทิ ฝาย หรือ แอ่งน้ำ ลงมาช่วยจุดที่ขาดแคลน ด้วยวิธีการกาลักน้ำ หรือสูบ ไล่ขึ้นไปตามลำน้ำเรื่อยๆ โดยจะเร่งพิจารณาตัดสินใจ พร้อมกับทำความเข้าใจชาวบ้าน เรื่องของระบบนิเวศน์จะต้องช่วยกันรักษา ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สภาพของลำห้วยหลวงขาดน้ำ น่าจะนำเอาวิกฤตมาเป็นโอกาส ในการสำรวจเก็บข้อมูลจริง ของลำห้วยหลวงตลอดสาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนา อาทิ การพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง 26,000 ล้านบาท ที่เริ่มแผนงานในปีที่ผ่านมา พบว่าแผนพัฒนายังไม่ตรง โดยเฉพาะที่ บ.ท่าหลักดิน เมื่อโครงการพัฒนาเสร็จ น้ำก็จะเก็บไม่ถึงบริเวณนี้ ขณะที่การศึกษาพัฒนาห้วยหลวงตอนกลาง ก็จะได้เอาข้อมูลครั้งนี้ไปศึกษาออกแบบ….

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments