เหตุทะเลาะวิวาท และหรือเหตุความรุนแรง ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่เป็นข่าวดัง และที่อุดรธานีก็เกิดขึ้นเกือบทุกแห่ง มีความถี่-ความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนถูกนำไปพูดคุยกันในคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด ก่อนจะมีคำสั่งไปยังทุกสถานีตำรวจ ร่วมมือกับโรงพยาบาล ป้องกันแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็มีแนวทางแตกต่างกัน
มีการประเมินจากสถิติพบเวลามักเกิดเหตุ ช่วงหลังสถานบันเทิงปิด , หลังการแสดงคอนเสิร์ต , ในช่วงการจัดงานประจำปีของจังหวัด-อำเภอ-วัด-เอกชน และช่วงเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์-ลอยกระทง-ออกพรรษา ส่วนผู้ก่อเหตุประกอบด้วย คู่กรณีของผู้บาดเจ็บ (วิวาท-อุบัติเหตุ) ตามมาทำร้าย หรือเผชิญหน้ากันขณะมาพบแพทย์ , ญาติผู้บาดเจ็บตามมาดูอาการ ไม่พอใจการตรวจรักษา และผู้บาดเจ็บ ที่ไม่พอใจการตรวจรักษา โดยทั้งสามกลุ่มมีปัจจัยเข้าไปเกี่ยวข้องคือ “เมา”
ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 ช่วงคาบเกี่ยวการปรับแผนตามนโยบาย ลดความแออัดในห้องฉุกเฉิน นำร่อง 16 รพ.ทั่วประเทศ นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี ได้เปิดให้บริการ “คลินิกนอกเวลา” และออกแบบเตรียมปรับปรุง “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” ได้เกิดเหตุวัยรุ่นตามมาร้ายกันในห้องฉุกเฉินในรอบ 2 เดือนถึง 6 ครั้ง แม้ทุกคนถูกดำเนินคดี แต่เหตุได้เกิดขึ้นไปแล้ว
พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ขณะนั้น ได้ร่วมกับ รพ.ศูนย์อุดรธานี ออกมาตรการป้องปราบโดยจัดตั้ง สถานีตำรวจชุมชน รพ.อุดรธานี อยู่บริเวณด้านหน้าห้องฉุกเฉิน พร้อมมีอุปกรณ์ยุทธวิธีควบคุมความรุนแรง ไม่มีตำรวจประจำอยู่ที่สถานีฯ แต่จะมีสายตรวจแวะเวียนมาทุก 1-2 ชม. หรือในช่วงเวลาเกิดความเสี่ยง หรือได้รับแจ้งจาก รพ. พร้อมจัดการซ้อมจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงขึ้น ประกาศย้ำนโยบายจับผู้ก่อเหตุทุกราย
“ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” ได้รับการปรับปรุงตามแบบสากล และติดตั้งระบบ ไอที.ทันสมัย เปิดให้บริการสมบูรณ์มาตั้งแต่เมษายน 2563 มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท ซึ่งตลอดเวลา 7-8 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ ความรุนแรงในห้องฉุกเฉินเลย แม้จะมีบางครั้งเสี่ยงจะเกิดเหตุ ล่าสุดเมื่อตี 1 เศษคืนวันที่ 19 กรกฎาคม มีวัยรุ่นรับบาดเจ็บจากเหตุวิวาท ในสถานบันเทิง 4 คน 1 ในนั้นถูกแทงอาการสาหัส มีเพื่อนมารวมตัวที่ รพ. แต่เข้าไปในห้องฉุกเฉินไม่ได้
นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี เปิดเผยว่า ไม่ใช่เพียงอาคารสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือ แต่รวมถึงความร่วมมือจากหลายฝ่าย จนเกิดระบบป้องกันความรุ่นแรงขึ้น และยังมีการซักซ้อมกันเดือนละ 2 ครั้ง เพราะหากมีเหตุการณ์รุนแรง จะกระทบกับผู้ป่วยที่เราดูแล ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยหนัก ความตกใจอาจจะทำให้การดูแลผู้ป่วยบกพร่องได้ ไม่อยากจะให้เกิดเหตุรุนแรงจะดีที่สุด
“ ห้องฉุกเฉินคุณภาพ จะมีประตู 2 ชั้น เปิดปิดด้วย รปภ.เท่านั้น ประตูแรกเป็นจุดคัดกรอง เพื่อเข้าไปในจุดรอคอย ประตูสองจะเข้าไปห้องฉุกเฉิน แบ่งเป็น 3 โซน คือ สีเหลือง-อาการเล็กน้อย , สีชมพู-อาการปานกลาง และสีแดง-อาการหนัก เชื่อมต่อไปยังห้องผ่าตัด และยังมีห้องความดันลบ สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ และมีหอผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน รอดูอาการไม่ต้องส่งเข้าโรงพยาบาล 24-72 ชม. ด้วยระบบไอที. จัดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย ออนไลน์ไปให้แพทย์ดูได้ทันที และกล้องวงจร 12 ตัว พร้อมห้องควบคุม ”
ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวด้วยว่า สถานีตำรวจชุมชน รพ.อุดรธานี ป้องปรามผู้จะก่อเหตุได้ดี แต่ก็มีระบบรับมือควบคู่กันไป เริ่มจากหากมีผู้ป่วยเข้ามา แล้วพบเกิดจากเหตุทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย รปภ.จะแจ้งสนับสนุน รปภ.มาที่ห้องฉุกเฉินเพิ่ม โดยไม่บุคคลภายนอกเข้าไปในห้องฉุกเฉิน แจ้งตำรวจให้ส่งสายตรวจมาสถานีฯ หากมีความรุนแรงเพิ่มเกรงจะรับไม่ได้ จะแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ในห้องฉุกเฉิน เคลื่อนย้ายผู้ป่วย อุปกรณ์การแพทย์ราคาสูง เก็บย้ายของมีคมทั้งหมด
ห้องฉุกเฉินคุณภาพ รพ.ศูนย์อุดรธานี เป็นนโยบายกระทรวงสารณสุข และเป็น 1 ใน 16 โรงพยาบาลนำร่อง ขณะที่ รพ.อุดรธานี มีเป้าหมายพัฒนาให้เทียบเท่าสากล ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพียงไม่กี่เดือนก็ให้บริการได้ ด้วยงบที่ได้รับการจัดสรรมาปกติ และงบผู้ป่วยอุบติเหตุเท่านั้น….