ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง มีฝนตกลงมาทุกพื้นที่ไม่เกิน 10 มม. แต่ยังมีน้ำค้างจากฝนวานก่อน ไหลลงสู่อ่างฯห้วยหลวง ต้นทางของลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง 9.8 ล้าน ลบม. ทำให้มีน้ำในอ่างฯ 134 ล้าน ลบม. จากความจุสูงสุด 135.5 ล้าน ลบม. หรือ 99.17 % ของความจุ ทำให้อ่างฯเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้าน ลบม./วัน เป็น 7.1 ล้าน ลบม./วัน (เปิดประตู 3 บานสูง 60 ซม.) จากแผนเดิมจะเปิด 8 ล้าน ลบม./วัน หลังจากประเมินต้นน้ำไม่มีฝนตกเพิ่ม ซึ่งยังเปิดระบายน้อยกว่า 17 ก.ย.2566 ที่เปิดระบายสูงถึง 17 ล้าน ลบม./วัน ทำให้น้ำท่วมลุ่มน้ำกว่า 1 สัปดาห์
น้ำที่ไหลออกจากอ่างฯห้วยหลวง ได้ไหลไปรวมกับลำห้วยเชียง , ลำห้วยลี , ลำห้วยทราย และลำห้วยสาขา จากน้า ฝนตกหนักใน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี วัดปริมาณน้ำได้สูงถึง 175 มม. เมื่อคืนวันที่ 23 ก.ย.2567 แล้วไหลผ่านประตูระบายน้ำบ้านหัวขัว ต.เมืองเพีย อ.กุดจับ ที่ยกบานประตูทั้ง 3 บานขึ้นสูงสุด 8 เมตร มีน้ำระบายผ่านไป 15.57 ล้าน ลบม. โดยมีชาวบ้านนำเอาอุปกรณ์หาปลา อาทิ สวิง , แห , ตาข่าย, ยอ และยอยักษ์ มาจับปลาบริเวณท้ายประตูน้ำ ได้ปลากันจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็น “ปลาขาว” บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาม
ขณะที่น้ำไหลผ่านประตูน้ำบ้านหัวขัว ได้ไหลล้นตลิ่งลำห้วยหลวง และลำห้วยสาขา เข้าท่วมพื้นที่เลือกสวนไร่นา ตลอดสองข้างลำห้วยหลวง บางจุดไหลท่วมทับคลองส่งน้ำ ตั้งแต่ ต.เมืองเพีย ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ โดยเฉพาะที่บ้านหนองบึงมอ ต.เชียงเพ็ง น้ำไหลตลิ่งลำห้วยหลวง และลำห้วยสาขา มีน้ำท่วมสูงและกระแสน้ำแรง ท่วมบ้านเรือนประชาชน และถนนสายเชียงยืน-เชียงเพ็ง เป็นช่วงๆรถเล็กผ่านไม่ได้ ระดับน้ำเท่ากับน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ต้องนำรถและเรือมาอำนวยความสะดวก ขนทั้งคนและรถ จยย. เพื่อเข้าออกมาทำงานในตัวเมือง
ลำน้ำห้วยหลวงได้ไหลผ่าน ต.เชียงยืน ต.นากว้าง ต.หมูม่น อ.เมือง มาสมทบกับน้ำที่ระบายจากอ่างฯหนองสำโรง ความจุ 11.5 ล้าน ลบม. แก้มลิงที่รับน้ำจากคลองป้องกันน้ำท่วมฝั่งตะวันตก จนน้ำเต็มความจุต้องระบายออก 0.63 ล้าน ลบม./วัน ไหลลอดทางรถไฟอุดรธานี-หนองคาย และไหลลอดสะพานบ้านท่าตูม ถ.มิตรภาพ ต.หมูม่น อ.เมือง อุดรธานี ซึ่งมีสภาพลำห้วยแคบเป็นคอขวด ระดับน้ำขึ้นติดถึงใต้ท้องสะพาน ซึ่งสะพานนี้ติดตั้งมาตรวัดอัตโนมัต ได้เปลี่ยนจาก “ธงเหลือง” เป็น “ธงแดง” เตือนภัยว่าน้ำล้นตลิ่ง โดยไหลเข้าท่วมพื้นที่ ต.นาข่า , ต.กุดสระ และ ต.สามพร้าว อ.เมือง อุดรธานี
สำหรับประตูน้ำบ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง ที่ถือเป็นจุดสิ้นสุดของ “ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง” ได้เปิดประตูน้ำสูงสุดทั้ง 4 บาน ระดับน้ำหน้าประตูและหลังประตูสูงเท่ากันคือ 169.23 รทก. สภาพน้ำท้ายประตูหนุนสูง ทำให้น้ำระบายช้ากว่าปกติ สามารถระบายน้ำผ่านไปได้เพียง 9.8 ล้าน ลบม./วัน เท่านั้น ทั้งที่มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง บริเวณสะพานหลังประตูระบายน้ำ โดยประตูน้ำบ้านสามพร้าว เป็นจุดการระบายน้ำเดียว ของการระบายน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง ทำให้น้ำยังคงตกค้างสะสมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
ขณะการปกป้องย่านเศรษฐกิจอุดรธานี มีปัญหาที่อ่างกุดลิงง้อ ด้านตะวันตกของเมือง ความจุ 6.4 ล้าน ลบม. น้ำเต็มความจุมากว่า 1 สัปดาห์ วันนี้ล้นปริงเวย์ออกมา 0.62 ล้าน ลบม. ทางระบายน้ำขนานถนนไปลง “คลองป้องกันน้ำท่วมฝั่งตะวันตก” ไม่ทัน น้ำไหลล้นถนนวงแหวนเข้า ทน.อุดรธานี , น้ำจากลำห้วยขุ่นมีปริมาณมาก ไหลมาถึงถนนมิตรภาพ ช่วง ทต.บ้านจั่น ก่อนเข้าเมืองอุดรธานี เกิดสภาพคอขวดช่วงไหลขนานถนนมิตรภาพ ไม่สามารถไหลลงคลองป้องกันน้ำท่วมฝั่งตะวันออกได้สะดวก จึงไหลท่วมถนนมิตรภาพระยะทางราว 500 เมตร น้ำส่วนนี้จะไปไหลรวมกับน้ำระบายออกมาจาก อ่างฯบ้านจั่น วันนี้ระบาย 1.42 ล้าน ลบม. ซึ่งจะไปรวมกับลำห้วยหลวงที่ประตูน้ำบ้านสามพร้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำห้วยหลวง ประกอบไปด้วย จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนกลาง ที่พบว่ามีปัญหาคือขวดที่สะพานบ้านท่าตูม น้ำไหลผ่านไปได้เพียง 50 % ทำให้น้ำตกค้างอยู่จำนวนมาก ต้องหาช่องทางระบายน้ำเพิ่มเติม และลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง สามารถระบายน้ำลงน้ำโขง ที่ปากน้ำ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ล่าสุดวันนี้น้ำโขงต่ำกว่านำห้วยหลวง 4 ซม. ระบายน้ำได้เพียง 14.7 ล้าน ลบม.เท่านั้น จึงมีน้ำสะสมล้นลำห้วยหลวง เข้าท่วมพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย , อ.สร้างคอม อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี โดยมีแผนจะใช้เครื่องผลักดันน้ำลงน้ำโขงเพิ่มเติม เกรงว่าน้ำจะท่วมเป็นเวลานาน….