วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมอ่างฯคำลิ้นควายรั่ว ผู้ว่าอุดรฯเฝ้าระวัง24 ชม.

อ่างฯคำลิ้นควายรั่ว ผู้ว่าอุดรฯเฝ้าระวัง24 ชม.

ฝนตก อ.หนองแสง อุดรธานี ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ทำอ่างฯคำลิ้นควายล้น เขื่อนดินสูง 18 เมตรเกิดรอยรั่ว ผู้ว่าเร่งตรวจสอบ ป้องกัน แก้ไข สั่งเฝ้ารับมือ 24. ชม.ทุกกรณี หวั่นซ้ำรอยอ่างฯขาด ที่ห้วยน้ำปลด อ.นายูง

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 23 กันยายน 2565 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เดินทางตรวจติดตาม “อ่างเก็บน้ำคำลิ้นควาย” บ.ทับไฮ ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง “รั่วซึมบริเวณเขื่อนดิน” โดยมีนายสุชาติ ทอนมณี นายอำเภอหนองแสง นายชาญวิชญ์ แฮมเกตุ ผอ.โครงการชลประทานอุดรธานี นายฉัตรชัย ชลายนวัฒน์ ผอ.กองการช่าง อบต.แสงสว่าง นายทองม้วน ศรีปะโค ผญบ.บ้านทับไฮ ต.แสงสว่าง นำตรวจสภาพอ่างฯ และรายงานสถานการณ์

“อ่างฯคำลิ้นควาย” เป็นต้นน้ำของลำห้วยกองสี กรมชลประทานสร้างขึ้น พ.ศ.2528 มีสันทำนบดินกว้าง 6 เมตร สูง 18 เมตร ยาว 240 เมตร มีฝ่ายน้ำล้นด้านทิศเหนือ และประตูระบายน้ำแบบท่อด้านทิศใต้ มีความจุน้ำ 1.8 ล้าน ลบม. มีปริมาณน้ำท่า 4.1 ล้าน ลบม. ถ่ายโอนให้ อบต.แสงสว่าง เมื่อ 26 พฤษภาคม 2546 อ่างฯเคยเกิดรั่วซึมบริเวณทำนบดิน ด้านทิศเหนือใกล้กับฝ่ายน้ำล้น อบต.แสงสว่าง เคยทำการซ่อมไปแล้ว 1 ครั้ง

เมื่อ 21 กันยายนที่ผ่านมา หลังฝนตกหนักมาต่อเนื่อง มีน้ำไหลลงอ่างจนล้นฝาย อบต.ตรวจพบรอยรั่วในชุดเดิม มีปริมาณน้ำกว่าเดิม และมีจุดน้ำออกเพิ่มอีก 2 จุด โครงการชลประทานอุดรธานีรับแจ้ง เดินทางไปตรวจสอบมีคำสั่งให้ พร่องประมาณน้ำเก็บกักลง ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำแบบท่อ และระบายน้ำออกจากอ่างด้วยกาลักน้ำ และเตรียมนำเครื่องสูบน้ำมาช่วย เพราะจากการระบายน้ำมา 2 วัน เมื่อคืนฝนตกน้ำกลับมามีระดับน้ำเท่าเดิม

นายชาญวิชญ์ แฮมเกตุ ผอ.โครงการชลประทานอุดรธานี เปิดเผยว่า หลังจากรับรายงานจาก อบต.แสงสว่าง ก็เข้ามาตรวจสอบร่วมกัน พบว่ามีน้ำรั่วซึม ไหลแรงน่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่เบาใจได้คือสีน้ำไม่ขุ่น ไม่มีตะกอนดินไหลออกมาด้วย อ่างฯแห่งนี้อยู่ที่สูง มีระดับน้ำสูงเต็มความจุของอ่างฯ ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นให้พร่องน้ำออกจากอ่างฯ ให้พ้นระดับวิกฤติเพื่อลดแรงดัน ปีที่แล้วรับรายงานเคยเกิดรอยรั่ว แต่ระดับน้ำไม่มากขนาดนี้ อบต.ซ่อมจนแล้วเสร็จ

“ หากการตรวจพบว่ารั่วจากฐานรากแนวชั้นหิน จากรอยแตกของหินแล้วรอดเขื่อนมา ตรงนี้สามารถเบาใจได้ เนื่องจากแกนโครงสร้างของเขื่อนยังไม่ได้รับแรงกระแทกจากแรงดันน้ำ น้ำที่ไหลออกมาอยู่ที่ 0.6 ลบ.ม.ต่อวินาที เราระบายน้ำออก 6 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อวานนี้ลดระดับน้ำได้ถึง 20 ซม. แต่เมื่อคืนฝนได้ตกลงมาระดับน้ำสูงขึ้นมาอีก จึงใช้ระบบกาลักน้ำมาเสริม และสูบน้ำออกทางฝายน้ำล้น แล้วรอประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ว่าจะใช้วิธีการไหนซ่อมดีที่สุด ”

นายฉัตรชัย ชลายนวัฒน์ ผอ.กองการช่าง อบต.แสงสว่าง เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้วที่มีการรั่วซึมตรงจุดที่พบปัจจุบัน แต่มีลักษณะน้ำผุดซึมออกมาเล็กน้อย สอบถามทางชลประทานก็พบว่าเป็นการรั่วซึมของเขื่อนดินตามปกติ เราจึงได้เข้ามาแก้ไขโดยการทำแนวทำนบปูนเสริมบนฝายน้ำล้นด้านขวา ปัญหาน้ำรั่วซึมจึงน้อยลง แต่ปีนี้ด้วยปริมาณน้ำที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน และ 2 สัปดาห์ก่อนมีฝนตกต่อเนื่อง จนมีน้ำท่วมอยู่ที่บ้านแสงสว่างที่อยู่ไม่ห่างกัน น่าจะทำให้เกิดแรงดันน้ำที่มากขึ้น จนเป็นอย่างที่เห็น

นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า เช้าวันนี้รับรายงานตรวจพบ ว่ามีการรั่วซึมปริมาณค่อนข้างมาก แทบจะเรียกได้ว่าไหลเป็นลำธาร ชลประทานจังหวัดลงพื้นที่มาตรวจสอบแล้ว ได้กำหนดมาตรการระยะสั้น โดยจัดเวรยามเฝ้า 24.ชม.ระวังเหตุ ซักซ้อมการแจ้งเตือน วางระบบแจ้งเตือนประชาชน ที่อยู่ห่างออกไป 1-2 กม. มีบ้านเรือนอยู่ราว 200 หลัง เปิดประตูระบายน้ำอย่างเต็มที่ ติดตั้งระบบกาลักน้ำด้วยท่อ PVC และจะนำเครื่องสูบน้ำสูบเร่งระบายอีกทาง

“ ก่อนมาดูสถานที่ยอมรับมีความกังวล และมีความเป็นห่วงมาก แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ได้เห็น ก็เบาใจอยู่ระดับหนึ่ง เนื่องจากสีของน้ำที่รั่วซึมออกมาไม่มีสีขุ่นแดง หมายความว่าการรั่วซึมไม่ได้ชะเอาคันดินด้านในออกมาด้วย ทั้งนี้หน่วยงานทุกฝ่ายก็จะได้ประเมิน และหาทางแก้ไขกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งชลประทาฯอุดรธานี รายงานเรื่องนี้ไปยังกรมชลประทานแล้ว ”

ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยอีกว่า การถ่ายโอนโครงการให้ท้องถิ่นดูแล มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการเข้ามาดูแลใกล้ชิด สะดวกและรวดเร็ว โดยงบของท้องถิ่นเอง แต่หากเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เช่นเรื่องของโครงสร้าง ท้องถิ่นอาจจะขาดงบประมาณ และบุคลากร จะต้องขอรับการสนับสนับผ่านจังหวัด แต่ก็จะไม่รวดเร็วทันที เพราะงบจังหวัดเองก็มีจำกัด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 3 ปีที่แล้ว อ่างฯห้วยน้ำปลด อ.นายูง ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นแล้ว เกิดการพังเสียหาย ท้องถิ่นไม่สามารถซ่อมแซมได้ กระทั่งได้รับงบจากท่านรองนายก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เราใช้เวลา 1 ปี จึงซ่อมแซมแล้วเสร็จ สามารถเก็บน้ำเปิดใช้งานได้แล้ว ….

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments