แม้ว่าราคา “วัว” จะตกลงมาจากเดิมมาก สวนทางกับราคา “ควาย” กลับสูงขึ้น แต่การเลี้ยงวัวก็ยังคงอยู่ และถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยที่ “SS RANCH” ต.โนนทอง อ.นายูง จ.อุดรธานี ของสองสามีภรรยา บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่สั่งสมประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ กลับบ้านมาบุกเบิกฟาร์ม “บาร์มันแดงเลือดร้อย”
ที่ฟาร์ม SS RANCH หรือ ฟาร์มหมอตี๋ บ้านท่าโปงทอง ม.5 ต.โนนทอง อ.นายูง จ.อุดรธานี ได้พบกับนายสมเกียรติ หรือหมอตี๋ และนางสวรรษา นรดิษฐ์ อายุ 37 ปี และ 33 ปี สองสามีภรรยาเจ้าของฟาร์ม ซึ่งกำลังดูแลแม่วัวบาร์มันแดงด้วยตัวเอง ทั้งสายเลือดจากต่างประเทศ และในประเทศ รวม 15 ตัว ตั้งแต่ทำความสะอาดคอก , ตรวจสุขภาพ , เก็บเกี่ยวหญ้า (เนเปียยักษ์+แพงโกล่า) นำมาหั่นสับ(เครื่อง) , เตรียมอาหารข้น หรือข้าวโพดหมัก และสอนให้วัวรุ่นเดินเข้าประกวด
นายสมเกียรติ หรือหมอตี๋ เล่าว่า เป็นชาว จ.ศรีสะเกษ เข้าเรียน “สัตวบาล” ที่วิทยาลัยเกษตรกรรม จ.ศรีสะเกษ ระหว่างเรียนได้สอบแข่งขัน ไปฝึกงานที่ฟาร์มวัว ที่ประเทศเดนมาร์ค ตอนนั้นตั้งใจมากจนได้รับคัดเลือก เดินทางไปทำงานที่นั่น 4 ปี ได้เรียนรู้สะสมประสบการณ์เต็มที่ จากนั้นกลับมาเรียนต่อเล็กน้อย ก็จบ ปวส. ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ ม.แม่โจ้ ก็ได้พบกับภรรยา เป็นชาว อ.นายูง ที่จบ ปวส.บัญชีจาก อาชีวะศึกษาอุดรธานี และไปเรียนต่อที่เดียวกัน
“ ผมมีอายุมากกว่ารุ่นเดียวกัน 4 ปี จากวัยวุฒิและประสบการณ์ ผมได้รับเลือกเป็นประธานชมรมฯ ส่วนภรรยาเป็นกรรมการฯ หลังเรียนจบก็ออกทำงาน หาประสบการณ์ในประเทศหลายปี ก่อนตัดสินใจมาทำฟาร์มวัวที่บ้านภรรยา เพราะจากสภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่สูงลาดเชิงเขา มีความอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นร่องมรสุม ฝนตกชุกเหมาะกับการปลูกหญ้าเลี้ยงวัวมาก ครอบครัวภรรยาก็เห็นดีด้วย เราจึงเริ่มต้นฟาร์มวัวเมื่อ 8 ปีก่อน ”
หมอตี๋ฯ เล่าต่อว่า เราเริ่มจากแม่วัว 2 ตัว กับแปลงหญ้าเนเปียยักษ์ ใช้เลี้ยงวัวได้ตลอดทั้งปี และยังตัดขายให้เกษตรกรรายอื่น ตนเลี้ยงดูแลวัวเองทั้งหมด นอกจากงานประจำวันที่ต้องทำ ยังสามารถผสมเทียม , ทำคลอด และดูแลรักษาวัวเจ็บป่วย ภรรยาก็มาช่วยด้วย รวมทั้งเปิดร้านเล็ก ๆ ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับ วัว และยางพารา เราเริ่มต้นด้วยความโชคดี เมื่อแม่วัวตัวแรกที่เราได้มา คลอดลูกเป็นตัวเมีย 3 ตัวติดต่อกัน ฟาร์มเราก็โตขึ้นเรื่อย ๆ
หมอตี๋ฯ เล่าว่า ฟาร์มเรามีศักยภาพเลี้ยงวัวได้ 30 ตัว ตอนนี้แยกเป็นแม่วัวของเราเอง ทั้งเลือดร้อยจากในและต่างประเทศ และแม่วัวนมผลิตนมช่วยแม่วัวอื่น 1 ตัว ขณะที่มีวัวคนอื่นเอามาฝากเลี้ยง ก็จะต้องมีค่าใช้จ่าย ประกอบไปด้วย วัวอายุไม่เกิน 2 ปี ฝากเลี้ยงเดือนละ 6,500 บาท , วัวที่เอามาผสมเทียมเดือนละ 6,500 บาท หากผสมติดลูกมีค่าใช้จ่ายอีก 20,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ และการสอนวัวเตรียมเข้าประกวดเดือนละ 7,000 บาท ส่วนอื่น ๆ ก็มาตกลงกันเพิ่มเติม
“ วัวรุ่นเตรียมส่งเข้าประกวด ต้องรับการฝึกให้คนจูงเดิน ซึ่งไม่ค่อยมีโรงเรียนเปิดสอน ผมฝึกวัวเข้าประกวดมานาน แต่เป็นการฝึกแบบภายในเราเอง ปีที่แล้วตัดสินใจเปิดสอนให้ภายนอก ต้องค่อยๆฝึกกันทุกวันไม่น้อยกว่า 4 เดือน จนวันสามารถให้คนอื่นจูงได้ ซึ่งเวลาเข้าประกวดก็จะมีคนจูงเฉพาะ ไม่ต่างอะไรกับจ๊อกกี้ม้าแข่ง ปีแรกที่ผมฝึกวันเดินประกวด วันที่ผ่านการฝึกที่ฟาร์มเรา ได้รับรางวัลที่ 3 และ 2 ตามลำดับ ทำให้มีคนรู้จักเรา ส่งวัวมาเรียนมากขึ้น ”
นายสมเกียรติ หรือหมอตี๋ ตอบข้อซักถามด้วยว่า เป้าหมายของ “ฟาร์มหมอตี๋” คือมีแม่วัวบาร์มันเลือดร้อย 50 ตัว เพื่อผลิตลูกวัวสายพันธุ์ดี ให้เกษตรกรหรือคนรักวัว ได้นำไปเลี้ยงในฟาร์มตนเอง ซึ่งมีแผนของฟาร์มอยู่แล้ว อีกไม่กี่ปีน่าจะถึงเป้าหมาย โดยพร้อมถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ ส่งเสริมให้ผู้สนใจเลี้ยงวัวในพื้นที่ …แบบไม่หวงความรู้ ครับ