วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมวิบากกรรมฟุตบาทโพศรีนครอุดร

วิบากกรรมฟุตบาทโพศรีนครอุดร

วิบากกรรมฟุตบาทโพศรีนครอุดร ไม่รับงาน-ฟ้องศาล-ส่งเงินคืน 9.3ล.

โดย…ยุทธพงษ์ กำหนดแน่

การปรับปรุงทางเท้า หรือฟุตบาท ในเทศบาลนครอุดรธานี ในรูปแบบเป็นมิตรประชาชน ทุกเพศ ทุกวัย ผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หรืออื่น ๆ ทั้ง“เบรลล์บล็อก” หรือทางเท้าคนตาบอด และทางลาด สายแรกที่ยาวที่สุด คือ สองข้างถนนศรีสุข ตั้งแต่สะพานข้ามห้วยหมากแข้ง ไปจนถึงวิทยาลัยอาชีวะศึกษา ซึ่งกว่ารูปแบบจะลงตัว ให้มีความมั่นคง แข็งแรง สวยงาม และเป็นสากล ก็ต้องเสียเวลากับ “แบบ” ไปนานพอสมควร

พอมาสายที่สอง บนถนนโพศรี ตั้งแต่สี่แยก ถ.โพศรี ตัดกับ ถ.มุขมนตรี ไปจนถึงสี่แยกสะพานดำ นึกว่าจะขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น แต่กลับกลายเป็น “วิบากกรรม” เริ่มต้นกับปัญหาวุ่นๆ เมื่อชาวบ้านร้องเรียนเหตุเดือดร้อน งานล่าช้าทำการค้าการขายไม่ได้ สัญญาจ้างเพียง 5 เดือน แต่กลับใช้เวลาแรมปี แม้วันนี้การค้าขายจะกลับมา แต่โครงการนี้ยังไม่จบลงจาก 1.ช่างไม่ตรวจรับงาน , 2.ผู้รับจ้างฟ้องศาลปกครอง และ 3.งบอุดหนุนถูกส่งกลับ

โครงการนี้ชื่อว่า “ส่งเสริมฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวส่วนเศรษฐกิจในเมือง (บริเวณถนนโพศรี)” เป็นงบอุดหนุนเฉพาะกิจจากรัฐบาล ตามแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีกรอบเวลาเร่งใช้เงิน ทน.อุดรธานี ได้เสนอแผนงานที่ออกแบบไว้แล้ว เป็นฟุตบาท 2 ด้านถนนโพศรี ระยะทางด้านละ 1,250 เมตร วงเงิน 9.3 ล้านบาทเศษ ใช้วิธีคัดเลือกหาผู้รับจ้าง และทำสัญญากับ หจก.เอส.พี.เฟอร์นิเจอร์ ตั้งแต่ 26 พ.ย.64-24 เม.ย.65

เมื่อมีประชาชนร้องเรียนว่าล่าช้า จากที่ผู้รับจ้างได้ทุบรื้อย้ายฟุตบาทเดิม ทิ้งไว้ไม่เข้ามาเร่งปรับปรุง ทำให้การค้าขายไม่สะดวก จนไม่ค้าขายไม่ได้ สำนักการช่าง ทน.อุดรธานี ชี้แจงว่า ผู้รับจ้างไม่ทำตามแผนงาน ด้วยการส่งเครื่องจักรเข้าทุบฟุตบาท ทั้งหมดพร้อมกันตลอด 2 ข้างถนน แทนที่จะดำเนินการช่วงละ 250 เมตร ได้มีคำสั่งระงับไปแล้ว แต่ผู้รับจ้างขัดคำสั่งทุบไปจนหมด โดยอ้างถึงสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถเร่งงานปรับปรุงได้

จากงานที่ล่าช้า จังหวัดอุดรธานีได้สั่งการให้ รองผู้ว่าฯ และนายอำเภอฯ ตรวจสอบหาทางลดความเดือดร้อน ผู้รับจ้างฯรับปากจะเร่งรัด แต่ดูเหมือนงานยังล่าช้าอยู่มาก ส่งผลให้มีปัญหาระหว่าง ผู้รับจ้างฯกับช่างฯผู้ควบคุมงาน โดยผู้รับจ้างฯร้องขอความเป็นธรรม ว่าช่างฯควบคุมงานกลั่นแกล้ง มายังศูนย์ดำรงธรรม และหน่วยงานอื่น ช่างควบคุมงานก็ชี้แจงทำงานตามหน้าที่ และยังเสนอให้ยกเลิกสัญญา 2 ครั้ง แต่ผู้บริหารมีความเห็นต่าง “ขอให้ผ่อนปรน” ปัญหายังมีต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

หากผ่านไปบริเวณโครงการ ภาพที่เห็นดูเหมือนว่างานเสร็จแล้ว แต่ความจริงยังคงมี“วิบากกรรม”กันอยู่ โดยผู้รับจ้างฯยังเบิกเงินไม่ได้แม้แต่งวดเดียว เริ่มจาก ครั้งแรก 15 ก.ย.65 , ครั้งที่สอง 17 พ.ย.65 , ครั้งที่สาม 16 ธ.ค.65 ทุกครั้งช่างฯปฏิเสธการตรวจรับ ยืนยัน “งานไม่เป็นไปตามสัญญา” พร้อมระบุในรายงานการตรวจ ส่งผลให้ผู้รับจ้างฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.อุดรธานี ขอความเป็นธรรรมไปแล้ว

คณะช่างควบคุมงาน มีรายงานความเห็นว่า ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างว่า หมดสัญญาจ้างไปตั้งแต่ 24 เม.ย.65 และครบกำหนดผ่อนผันค่าปรับเมื่อ 7 ธ.ค.65 (สถานการณ์โควิด-19) ผู้รับจ้างยังทำไม่เสร็จตามสัญญา ต้องเสียค่าปรับวันละ 23,270.75 บาท (ถึง 23 เม.ย.66 ยอดรวม 3.09 ล้านบาท) ค่าปรับใกล้จะเกินกว่า 10 % ของค่าจ้าง แต่ผู้รับจ้างก็ยังไม่มีการแก้ไข ขอสงวนสิทธิในการบอกเลิกสัญญา

ล่าสุด ทน.อุดรธานี ได้พิจารณาจ่ายเงินให้ผู้รับจ้าง ด้วยการนำสัญญาว่าจ้าง กับแบบแปลนตามสัญญา มาพิจารณากับปริมาณงานที่ผู้รับจ้างทำไปแล้ว และตรงกับสัญญาและแบบแปลน อะไรที่ทำถูกต้องก็จ่าย อะไรทำยังไม่ถูกต้อง หรือยังไม่ทำก็ไม่จ่าย พบว่า ทน.อุดรธานี สมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้าง 6.5 ล้านบาท โดยจะเสนอไปยังศาลปกครอง จ.อุดรธานี ประกอบการพิจารณาความเห็น (กระบวนการให้ความเห็นธรรม ตามขั้นตอนที่สองฝ่ายสมควรจะได้รับ)

แต่เรื่องไม่ได้จบลงแบบนั้น เพราะหากย้อนกลับไป ในขั้นตอนได้งบประมาณมาก รัฐบาลอนุมัติเงินมาให้ด่วนๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ในกรอบกิจกรรมสนับสนุนท่องเที่ยงในเมือง 11 ล้านบาท ทน.อุดรธานี ก็เสนอโครงการนี้ไปขอรับงบประมาณ ที่ออกแบบไว้เพียง 9.3 ล้านบาท ซึ่งคำว่าด่วนๆก็คือ ใช้ก่อน 30 ก.ย.65 ซึ่งจากการตีความแล้ว ทน.อุดรธานี จะต้องคืนเงินก้อนนี้กลับไปทั้งหมด และน่าจะโอนคืนไปแล้ว

น่าจะเกิดกรณี…..3 วิบากกรรม หรือมากกว่านั้น

“วิบากกรรม 1” ทน.อุดรธานี จะต้องหาเงิน มากกว่าหรือน้อยกว่า 6.5 ล้านบาท ให้กับผู้รับจ้างฯตามคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาของศาลปกครอง จ.อุดรธานี ซึ่ง ทน.อุดรธานี มีเงินสะสมอยู่เพียงพอจะจ่าย (ทน.อุดรฯรวยอยู่แล้ว) จะต้องขอความเห็นชอบจากสภาฯก่อน

“วิบากกรรม 2” ผู้บริหาร ทน.อุดรธานี จะอธิบายเหตุและผล ต่อสมาชิกสภา ทน.อุดรธานี อย่างไร …..จึงจะทำให้การยกมือของ สท.นครอุดรธานี ผ่านไปได้ด้วยดี และ เพียงพอ สท.นำไปตอบคำถามชาวบ้าน

“วิบากกรรม 3” จะมีใครต้องรับผิดชอบ เม็ดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 9.3 ล้านบาท ที่ ทน.อุดรธานี ต้องส่งคืนไป แล้วควักกระเป๋าตัวเองมาจ่ายเอง ……..หรือไม่ อย่างไร

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments