ผอ.รพ.อุดรธานี แถลงครั้งแรกหลังถูกร้อง-ขับไล่ 6 ครั้ง กรณีเงินเพิ่ม-เงินเสี่ยภัยโควิด-19 ยืนยันรักษาผลประโยชน์รัฐ-บุคลากร ยึดหลักฐานเบิกต้องครบ 3 อย่าง ยอมรับมีหลักฐานไม่ครบส่งเบิกไม่ได้ 5 ล้าน สตง.เข้าตรวจมากว่า 2 เดือน รอสรุปผลการสอบสวน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธุ์ 2565 ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคารอำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สาธารณสุข จ.อุดรธานี พญ.ฤทัย วรรณธนวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี พร้อม รอง ผอ.รพ.อุดรธานี (ทุกฝ่าย) และหัวหน้าแผนกงาน ร่วมแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง การเคลื่อนไหวบุคลากร ร้องเรียนกรณีเงินเดือนเพิ่มพิเศษโควิด-19 , เงินเพิ่มพิเศษรายเดือน และค่าตอนแทนเสี่ยงภัย ต่อเนื่องมากมากกว่า 6 ครั้ง ล่าสุดวันนี้ที่รัฐสภายื่นต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร
นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สาธารณสุข จ.อุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มผู้ร้องเรียนขอความเป็นธรรม รพ.ศูนย์อุดรธานีในหลายกรณี กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นัดผู้ร้องเรียนมาพบพูดคุย สรุปประเด็นสาระสำคัญได้ 3 ประเด็น ผลการติดตามล่าสุดสรุปได้ดังนี้ 1.กรณีการเลื่อนเงินเดือนเพิ่มพิเศษโควตาโควิด 1 % (งบปี63) รพ.อุดรธานี ได้เบิกจ่ายและโอนเงินให้พนักงานราชการ-ลูกจ้างชั่วคราว-พนักงานกระทรวงสาธารณสุข โอนเมื่อ 30 ธ.ค 2564 และข้าราชการ-ลูกจ้างประจำโอนเมื่อ 26 มค.65 , 2. กรณีเงินเพิ่มพิเศษรายเดือน 1,000, 1,500 (มี.ค.63 -ก.ย.63) ที่ขอเพิ่ม 21,821,500 บาท อยู่ระหว่างการบริหารการคลัง กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการรวบรวมข้อมูลส่งขอสำนักงบประมาณ
และ 3. กรณีค่าตอบแทนเสี่ยงภัยร้ายผลัด ปี 63 ขอเพิ่ม 3,111,750 บาท ปี 64 ขอเพิ่ม 42,002,879 บาท ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยรายผลัดปี 63 อยู่ระหว่างส่วนกลางเสนอขอสำนักงบประมาณ ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยรายผลัดปี 64 (รอบ ต.ค.63-ก.ย.64) ส่วนกลางโอนงบประมาณเพื่อเบิกจ่าย 42,002,879 บาท (เมื่อ 19 ม.ค. 65) สสจ.เบิกจ่ายและโอนเงินให้ รพ.อุดรธานี 6,770,379 บาท คงเหลือ 35,232,500 บาท อยู่ระหว่างรอโอนให้โรงพยาบาล เนื่องจากเอกสารไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ดี “กลุ่มผู้ร้องเรียนอาจจะคิดว่าไม่เป็นธรรม หรือเกิดความล่าช้านั่น ก็อาจจะเป็นเพราะว่ากลุ่มผู้ร้องเรียน อาจจะไม่ทราบถึงเรื่องระบบงบประมาณก็เป็นได้
พญ.ฤทัย วรรณธนวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า รพ.อุดรธานีมีบุคลากร 3,500 กว่าคน เราต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของบุคลากรเรา และจะต้องทำให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาเราได้อดกลั่น หลังจากอย่างน้อย 6 ครั้ง ตนเองและรอง ผอ.ถูกขับไล่ จึงขอมาแถลงชี้แจงเป็นครั้งแรก หลังจากวันนี้ที่รัฐสภา มีข่าวปรากฎผ่านมติชน Online มีบุคคลากรไปยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ เตมียเวส เรียกร้องขอความเป็นธรรม เรื่องค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 โดยอ้างว่ายังไม่มีการเบิกจ่ายให้กับบุคลากร มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับ
“ เงินค่าเสี่ยงภัยรายผลัดเป็นเงินประมาณ ที่มีระเบียบฯกำหนดให้ใช้ คือ 1.ต้องมีคำสั่งขึ้นปฏิบัติงาน , 2.ต้องมีผู้ติดเชื้อ หรือสงสัยจะติดเชื้อรอตรวจสอบ หรือการมีอยู่จริง และ 3.ผู้จะเบิกฯต้องได้ขึ้นปฏิบัติงานจริง ถ้าไม่มี 3 ข้อนี้เราก็ไม่สามารถส่งหลักฐานไปเบิกเงินได้ ดิฉันมารับตำแหน่ง ต.ค.63 ในช่วงเดือน เม.ย.64 ซึ่งดิฉันติดเชื้อโควิด-19 ได้มีเงินขาขึ้นออกมาผิดปกติ เพราะน้อยกว่า รพ.ขนาดเล็กข้างเคียง จึงแจ้งให้ผู้รับผิดชอบอุทธรณ์ไป เห็นได้ว่าเราไม่ได้นิ่งเฉย ”
ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า เมื่ออุทธรณ์ไปแล้วเราได้เงินเพิ่มมา 42 ล้านบาทเศษ แต่ รพ.อุดรธานีสามารถส่งเอกสารเบิกได้ 35 ล้านบาท แต่เอกสารที่ส่งไปตรวจพบว่า สามารถจ่ายเงินได้ถูกต้องเพียง 6.7 ล้านบาท สสจ.อุดรธานีกรุณาให้เรา กลับมาทวนเอกสารอีกครั้ง เราก็มาทบทวนกันหลายรอบ สิ่งที่เราพบคือเราไม่มีผู้ป่วย จนปัจจุบันได้ส่งเอกสารไปที่ สสจ.อีก 23 ล้านบาท ซึ่ง สสจ.อุดรธานี ก็จะต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าถูกต้องหรือไม่ ตอนนี้มีเงินเหลืออยู่ 5.4 ล้านบาท เราไม่สามารถหาเอกสารไปยืนยันได้ มั่นใจว่าเราได้ดูแลบุคลากรเป็นธรรมที่สุด
“ อย่างน้อย 6 ครั้ง ที่บุคลากร รพ.อุดรธานี ไล่-ขับไล่-ทวงถาม ทำให้มีคณะตรวจการแผ่นดิน และตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาฝั่งตัวใน รพ.อุดรธานี ตรวจสอบต่อเนื่องกว่า 2-3 เดือนแล้ว ซึ่งได้พบสิ่งผิดปกติหลายอย่าง จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยืนยันอีกครั้งว่า รพ.อุดรธานี ได้ดำเนินการตามระเบียบ ในการจ่ายค่าตอนแทนเสี่ยงภัย ส่วนผลการตรวจสอบของ สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน ยังต้องรอสรุปผลอยู่ ”
พญ.ฤทัย วรรณธนวินิจ ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี ตอบข้อซักถามว่า ห่วงเวลาที่มีปัญหาเป็น มี.ค.-ก.ย.63 แต่ตนมารับตำแหน่ง ต.ค.63 จนมาในช่วง เม.ย.64 ได้รับแจ้งว่าช่วงเวลานั้นเราได้รับงบประมาณ 5 ล้าน ขณะที่ รพ.ขนาดเล็กที่อยู่รอบๆเราได้ 10 ล้าน ตอนนั้นกักตัวป่วยโควิดอยู่ก็ตกใจ ได้คุยกับทีมเพื่อขออุทธรณ์ ก็ได้รับเม็ดเงินกลับมาในส่วนของจังหวัด และส่วนกลาง เราจึงไม่ได้นิ่งนอนใจในกรณีนี้ แต่มันมีกระบวนการมันจึงไม่เร็ว เราก็พยายามอธิบายตลอด กับผู้ร้องเรียน 3-4 ครั้ง รวมไปถึงผู้ร้องไปพบ สสจ.อุดรธานี , ผวจ.อุดรธานี และผู้ตรวจฯ ทุกคนก็เข้าใจหมด แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ร้องไม่เข้าใจ คงจะต้องรอผลตรวจสอบของ สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สนง.ตรวจการแผ่นดิน สรุปว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่ รพ.อุดรธานี จึงทำให้เรื่องเหล่านี้ไม่จบซักที …