หลังจากคิ๊กออฟโครงการ “ก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิ้ลใต้ดิน หอนาฬิกา-วงเวียนน้ำพุ (ระยะที่ 1) ผ่านไปได้ 4 วัน ปรากฏว่าจุดก่อสร้างวางท่อใต้ดิน สำหรับร้อยสายไฟฟ้าแรงต่ำ (17 ก.พ.63) จุดแรกบริเวณถนนอำเภอ ระยะทาง 30 เมตร ปรากฏว่าผ่านไป 4 วัน ผู้รับจ้างสามารถเทคอนกรีตผิวจราจรแล้ว เหลือเพียงการก่อสร้างบ่อพัก เตรียมเจาะถนนวางท่อต่อไป
นายธานินทร์ อัมฤตานนท์ หน.แผนจัดการโครงการ ก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้า กองก่อสร้างและบริหารโครงการ ฝ่ายวิศวกรรมบริการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 อุดรธานี เปิดเผยว่า กฟภ.จะเข้ามาควบคุมกำกับดูแล การก่อสร้างควบคู่กับไปวิศวกรผู้รับจ้าง และที่ปรึกษาโครงการ โดยแผนการก่อสร้างระบุว่า จะก่อสร้างบ่อพักไว้ล่วงหน้า อยู่นอกพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบการจราจร
สำหรับการก่อสร้างท่อร้อยสายบนถนน ทั้งสายไฟแรงสูง และสายไฟแรงต่ำ จะทำงานปกติทุกวัน 08.00-17.00 น. แบ่งงานเป็นช่วงๆ 30-50 เมตร แล้วแต่ลักษณะพื้นที่ บางจุดอาจจะมีงานต่อเนื่อง โดยจะปิดผิวการจราจรบางส่วน เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร จะมีการทำงานในช่วงกลางคืน ระหว่างเวลา 20.00-24.00 น. และ 00.00-05.00 น. เฉพาะในบางวันแต่ต้องไม่เสียงดัง
ช่วงแรก…แบ่งการก่อสร้างออกเป็น งานดันท่อและบ่อพักสายไฟฟ้าแรงสูง เป็นการดันท่อลอดใต้ดิน ด้วยเครื่องเจาะ HDD ควบคุมทิศทางด้วย “จีพีเอส” สามารถหลบหลีสิ่งกีดขวางใต้ดินได้ โดยเครื่องจะตั้งอยู่จุดที่สร้างบ่อพัก เจาะเพื่อดันท่อไปอีกบ่อพัก โดยบ่อพักสายไฟฟ้าแรงสูงจะมี 17 บ่อ บางบ่อตั้งอยู่กลางถนน โดยปลายของท่อสายไฟฟ้าแรงสูง จะเป็นจุดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า (ยังต้องตั้งบนเสา)
ซึ่งเครื่องเจาะมี 2 ชุดๆแรก ตั้งอยู่หน้าร้านเทพอุดร วงเวียนน้ำพุ เจาะดันท่อไป 4 ทิศทางตามถนน (สีเขียว) เสร็จไปแล้ว 1 สาย เหลืออีก 3 สาย จากนั้นจะย้ายไปเจาะดันท่อสายสีเหลือง ติดตั้งเครื่องเจาะที่แยกศรีวิไล จากนั้นจะย้ายไปสายแดง-น้ำตาล-เทา ส่วนชุดที่ 2 จะตามมาอีกระยะหนึ่ง เริ่มติดตั้งจุดแรกช่วงกลาง ถนนอุดรดุษฎี ระหว่างวงเวียนน้ำพุ กับวงเวียนหอนาฬิกา (สีแสด) เสร็จแล้วก็ย้ายไปจุดอื่นๆ (ตามผัง)
สำหรับการก่อสร้างงานวางท่อ และบ่อพักสายไฟฟ้าแรงต่ำ จะเปิดผิวการจราจรสร้างบ่อพัก 68 บ่อ และวางท่อรอบสาย มีความกว้าง 80 ซม. การวางท่อจะทำเป็นช่วงๆ จากบ่อพักหนึ่ง ไปยังอีกบ่อพักหนึ่ง ระยะทางช่วงละ 30-50 เมตร โดยทีมแรกเริ่มที่(สายสีแดง)ถนนอำเภอ-เลี้ยวขวาถนนโพศรี (ฝั่งตะวันตก)-ถึงวงเวียนน้ำพุ จากนั้นจึงมาเริ่มสายสีเขียว ถนนโพศรี (ฝั่งตะวันออก) และชุดที่ 2 เริ่มที่ ถนนประจักษ์ฯ-มาถนนอุดรดุษฎี (ตามผัง)
มีขั้นตอนการทำงานเริ่มงานจาก “ตัด” ผิวจราจร – ทุบผิวจราจร – ขุดเปิดผิวจราจร – ปรับระดับด้วยทราย – วางหวีรองท่อ – วางท่อ – ถมด้วยทรายละเอียด – บดอัด – วางแผ่นคอนกรีตทับ – ถมด้วยทรายละเอียด – บดอัด – วางวายเม็ท – เทคอนกรีต – เคลียร์พื้นที่คืน แต่จะยังเหลือบริเวณบ่อพักยังไม่คืน พร้อมยืนยันว่าการวางท่อแรงต่ำ นับตั้งแต่การทุบผิวจราจร ถึงการคืนผิวจราจรให้ใช้งาน สามารถค้าขายได้ใช้เวลา 3-5 วัน
ทั้งนี้งาน “โยธา” ช่วงแรกคืนการวางท่อใต้ดิน จะต้องสร้างให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสร้างทางเชื่อมไฟฟ้าแรงสูง-หม้อแปลงไฟฟ้า-ไฟฟ้าแรงต่ำ จึงจะตรวจสอบความสมบูรณ์ และวางระบบสายแรงสูง-แรงต่ำ ก่อนจะเชื่อมเข้าหาบ้าน และรื้อถอนระบบเดิมออก ระหว่างก่อสร้างอาจจะมีผลกระทบ กฟภ.ได้ให้ผู้รับจ้างติดป้ายโครงการ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ไว้ สามารถติดต่อประสานงาน หรือร้องเรียนได้