วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมเปิด 3 รูปแบบทางต่างระดับทางเข้าสนามบิน

เปิด 3 รูปแบบทางต่างระดับทางเข้าสนามบิน

เวทีศึกษาออกแบบทางต่างระดับ แยกเข้าสนามบินอุดรธานี ที่ปรึกษาเสนอเบื้องต้น 3 รูปแบบ ที่ประชุมสนใจรูปแบบ 3 มีทั้งทางข้าม-อุโมงค์ แต่ห่วงปัญหาน้ำมาก-ราคาสูง ขณะรองประธานหอการค้า แนะให้นำแผนขยายสนามบิน มาใช้เป็นข้อมูลหลักเพื่อตัดสินใจ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี กรมทางหลวง จัดประชุมเสนอแนวคิดกำหนดรูปแบบทางเลือก การพัฒนาเบื้องต้น (กลุ่มย่อย ครั้งที่ 1) โครงการศึกษาสำรวจออกแบบทางต่างระดับ จุดตัดทางหลวง 216 กับทางหลวง 2423 (ทางเข้าสนามบินอุดรธานี) โดยมีตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา นายนราชัย จันติวรวิทย์ วิศวกรขนส่งและจราจร , นายวรากร ติยะวัฒนพูติ วิศวกรทาง และ น.ส.กิตติกา บุญยชาติพิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ชี้แจงโครงการฯ ตอบคำถาม และรับฟังความคิดเห็น

โดยมีนายไกรสิทธิ์ พุฒธรรม ประธานสภา ทน.อุดรธานี นายทนงศักดิ์ โตวัน รองประธานหอการค้า จ.อุดรธานี นำตัวแทนจากท่าอากาศยานอุดรธานี , หน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง , หน่วยราชการที่มีผลกระทบ , ผู้นำชุมชน , ผู้มีส่วนได้เสียในรัศมี 1 กม. ในเขต ทน.อุดรธานี และประชาขนทั่วไป เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงโครงการฯ สอบถามข้อสงสัย และเสนอแนะแสดงความคิดเห็น ซึ่งในช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ทม.หนองสำโรง ณ ห้องประชุม สนง.ทม.หนองสำโรง อ.เมือง

ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา ชี้แจงว่า ท่าอากาศยานอุดรธานีมีผู้โดยสารมากอันดับ 5 ของประเทศ และเป็นอันดับ 1 ของสนามบินสังกัดกรมท่าอากาศยาน ทางหลวงจุดตัดทางเข้าสนามบิน มีรถผ่านเข้า-ออก มากกว่าวันละ 30,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล และจักรยานยนต์ 90 % ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 3,000 คัน/ ชม. ขณะบริเวณตรงข้ามประตูสนามบิน มีโรงเรียนขนาดใหญ่และชุมชนตั้งอยู่ ทำให้มีสภาพรถเคลื่อนตัวช้าจนถึงติดขัด จึงมีความจำเป็นต้องออกแบบ รองรับการเติบโตของสนามบิน และเมืองในอนาคต

“ บริเวณนี้ได้รับการปรับปรุง ขยายผิวจราจรไปเมื่อ 2 ปีก่อน การศึกษาออกแบบจะเพิ่มทางต่างระดับ ให้อยู่ในแนวขอบทางเดิม จึงจะไม่มีการเวนคืนที่ดิน แม้จะไม่เข้าข่ายต้องทำรายงาน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ.) แต่กรมฯให้ทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เรามีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง และจะประชุมกันแบบนี้ทุก 2 เดือน ครั้งสุดท้ายจะเป็นเดือนมกราคม 2566 ถ้าเป็นไปตามแผนงบประมาณปกติ น่าจะได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2568 จากนั้นใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ก็จะแล้วเสร็จในปี 2571 ”

ที่ปรึกษา แจ้งว่า ได้ศึกษารูปแบบทางต่างระดับไว้ 3 รูปแบบ 1. ยกระดับข้ามทางแยกบนทางหลวง 216 ขนาด 4 เลน การจราจรระดับพื้นควบคุมด้วยไฟสัญญาจราจร ทำให้การจราจรในทิศทางหลักไม่จอดรอสัญญาน ราคาก่อสร้างไม่สูง และใช้เวลาไม่นาน , 2.ยกระดับข้ามทางแยกบนทางหลวง 216 ขนาด 4 เลน การจราจรระดับพื้นควบคุมด้วยวงเวียน ทำให้การจราจรในทิศทางหลักและรอง ไม่จอดรอสัญญานไฟ ราคาก่อสร้างไม่สูง และใช้เวลาไม่นาน แต่หากมีปริมาณรถมากจะมีปัญหา

และ 3. ยกระดับข้ามทางแยกบนทางหลวง 216 ขนาด 4 เลน การจราจรในทิศทางหลักไม่จอดรอสัญญาน และทางลอดขนาด 1 เลน ลอดมุ่งหน้ามายังประตูสนามบิน ส่วนจราจรระดับพื้นให้เลี้ยวซ้ายออกจากสนามบิน จะทำให้การจราจรทุกเส้นทาง ไม่ต้องจอดรถสัญญาไฟจราจร แต่ราคาค่าก่อสร้างสูง ระยะเวลาในการก่อสร้างนาน โดยขอให้ผู้เข้าร่วมประชุม เลือกรูปแบบที่คิดว่าดีที่สุด พร้อมเหตุผลประกอบ รวมทั้งแนะนำข้อมูลอื่นในจุดนี้ และปัญหาระหว่างการก่อสร้างจุดอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาออกแบบ

ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นด้วย กับโครงการทางแยกต่างระดับ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรูปแบบที่ 3 แต่ก็มีความเห็นห่วงเรื่อง “การระบายน้ำ” ที่อุดรธานีอ่อนไหวในเรื่องนี้ ตลอดจนงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ โดยรองประธานหอการค้า จ.อุดรธานี เสนอให้มีการศึกษาต่อเนื่อง กับแผนการพัฒนาสนามบินอุดรธานี เพราะหากภายนอกสนามบินจัดการแล้ว อาจจะเกิดปัญหาคอขวดในสนามบินเอง

ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบที่ 3 ให้เหตุผลว่า สภาพในปัจจุบันบริเวณนี้ เคยมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำ ไหลผ่านเข้าในตัวเมือง ปัจจุบันปริมาณน้ำยังมากอยู่ ตลอดจนการที่อุโมงค์ไปโผล่บนทางหลวง 2423 หรือบริเวณหน้าโรงเรียน ที่มีเด็กนักเรียนจำนวนมากช่วงเร่งด่วน การจัดการเรื่องอุบัติเหตุจะยากขึ้น เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น น่าจะมาใช้ในรูปแบบที่ 1 คือการจัดการกับรถเส้นทางหลัก ไม่ต้องหยุดรอไฟสัญญาจราจร

ทั้งนี้ผู้แทนจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ชี้แจงต่อที่ปรึกษา และผู้ร่วมประชุมว่า ปัจจุบันเส้นทางเข้า-ออกสนามบิน เป็นทางเดียวมีลักษณะคอขวด มีปัญหาปริมาณรถแออัดในบางช่วง ทำให้สนามบินมีแผนก่อสร้าง อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ตลอดจนอาคารจอดรถ เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารขยายตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ อาคารตลอดจนทางเข้าออกใหม่ ซึ่งทางที่ปรึกษาฯรับจะประสาน เพื่อแผนการศึกษาของสนามบิน มาประกอบการศึกษาออกแบบครั้งนี้…..

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments