ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ “ต้มยำกุ้ง” จนมาถึง “โควิด-19” ครั้งนี้คาดว่ามีคนตกงานมากกว่า 6.3 ล้านคน แรงงานตกงานส่วนใหญ่กลับบ้าน เข้าไปอยู่กับเลือกสวนไร่นา ตามแบบวิถีชีวิตที่เคยผ่านมาในวัยเด็ก และวัยหนุ่ม-สาว “ภาคการเกษตร” และ “ชีวิตแบบพอเพียง” จึงเป็นทางเลือกสำคัญ ขณะในช่วงวิกฤติก็จะเกิดโอกาส ทำให้วันนี้มีคำถามว่า ….เราจะทำอะไรกันดี
“บ้านปูนาอุดรธานี” เลขที่ 283 ถนนดงมะกรูด-ห้วยสำราญ ม.7 บ.ดงมะกรูด ต.หนองไฮ อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่เคยปลูกกุหลาบป่าร้อยมาลัย , ต้นหอม และผักต่างๆ ต่อเนื่องมาหลายสิบปี วันนี้ไม่มีแปลงผักให้เห็นอีกแล้ว ส่วนบ้านพักริมถนนถูกดัดแปลงเป็น “ฟาร์มปูนาน้ำใส” และด้านหน้ากำลังปลูกสร้างโรงแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารจากปูนา อาทิ ปูดอง , ดองปูสมุนไพร , น้ำพริกนรกปูนา , ปูนาไข่เค็ม , อ่องมันปูนา และอื่นๆ
พบกับนางพรเพ็ญ หรือพร บุตตาธรรม อายุ 45 ปี เจ้าของบ้านปูนาอุดรธานี ใจดีนำดูฟาร์มปูนาผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ขาย โดยดัดแปลงจากบ้านพักตัวเอง จากนั้นพาไปดูฟาร์มปูนาธรรมชาติ ที่บ้านโคกสะอาด ต.หนองไฮ ที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก ด้วยการปรับพื้นที่นาข้าวไร่เศษเป็นบ่อเลี้ยง ล้อมด้วยกระเบื้องมุงหลังคาเก่า อุปกรณ์ระบบน้ำนำมาจากงานปลูกผักเดิม และยังให้ข้อมูลแบบไม่หวง เชิญชวนผู้สนใจมาทดลองเลี้ยง เพราะใช้เงินลงทุนไม่มาก
“พร” เล่าขณะเดินดูฟาร์มว่า สามีทำงานที่ อบต.หนองไฮ นอกเวลางานก็ทำเกษตร มีลูกชาย 2 คน ได้ทุนเรียนพาณิชย์นาวี มีงานทำแล้วอยู่ในทะเลไทยนี่หละ ครอบครัวเราทำการเกษตรมาตลอด 26 ปีแล้ว ปลูกต้นหอม/พืชผัก 50 ไร่ ปลูกอ้อย 30 ไร่ ทำนา 30 ไร่ จากที่ดินตนเองและเช่า แต่ก็ยังมีหนี้กับ ธกส.หลายแสนบาท แต่เมื่อเลี้ยงปูนาเพียง 2 ปี 1 เดือน ปลดหนี้ ธกส. และหนี้อื่นๆหมดแล้ว
ปลูกผักมา26ปีเลิกหนีสารเคมี เปิดอินเตอร์เน็ทเลี้ยงปูนา
“ ลูกชายอยากให้เลิกปลูกผัก เพราะใช้สารเคมีมานานมากแล้ว ลูกคนโตสั่งซื้อพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม มาให้จากบ้านแพร้ว 600 ต้น ลูกชายคนเล็กสั่งซื้อพ่อ-แม่พันธุ์ปูนามาให้ 100 คู่ พันธุ์มะพร้าวก็พอจะปลูกเป็น แต่พ่อ-แม่พันธุ์ปูนาคิดหนัก ไม่เคยเลี้ยง เลี้ยงแล้วใครจะซื้อ ตามท้องไร่ท้องนาก็มี ลูกมาสอนให้ศึกษาจากอินเตอร์เน็ท บอกตรงๆทำแบบไม่ตั้งใจ เอาไปแอบเลี้ยงไว้หลังบ้าน ไม่กล้าบอกเพื่อนบ้าน กลัวเขาหัวเราะ กล้าติดป้ายเมื่อ 4 เดือนก่อนนี้เอง ”
“พร” เล่าต่อว่า บ่อเลี้ยงปูนาเดิมคือบ้านพัก แต่ปลวกกินหลังคาจึงย้ายออก แล้วดัดแปลงเป็นบ่อเลี้ยงปูนา เมื่อลูกปูนามีมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกชายได้เปิดเพจ “บ้านปูนาอุดรธานี” เป็นช่องทางขาย เวลาผ่านไป 9 เดือน ขายพ่อ-แม่พันธุ์ได้ครั้งแรก 20 คู่ๆละ 60 บาท รวม 1,200 บาท เป็นลูกค้าจาก จ.อุบลราชธานี จากนั้นราคาขยับขึ้นเป็นคู่ละ 70 และ 80 บาท ก็มีลูกค้าสั่งซื้อมาต่อเนื่อง รวมทั้งเอาแปรรูปขาย มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6-7 หมื่นบาท ขณะมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก
“ แม่ปูจะออกลูกปีละ 3 ครั้งๆละ 400-600 ตัว แต่ต้องล้อเลียนธรรมชาติ(หลอกปู) ตอนนี้กำลังเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ในบ่อน้ำใส 3 หมื่นตัว ลูกปูที่เหลือเอาไปลงบ่อธรรมชาติ(ระบบปิด) ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 6 แสนตัว ปูนาส่วนนี้จะเอาไปแปรรูป (ส่องไฟเลือกจับตอนกลางคืน) เป็นสินค้าของบ้านปูนาอุดรธานี มีผู้สนใจสั่งซื้อมาไม่ขาด มีแผนจะผลิตป้อนตลาด แบบใหม่สดทุกวัน โดยกำลังสร้างโรงครัวขึ้นมาเฉพาะ (เป็นช่างเอง) รวมทั้งส่งขายร้านอาหารประจำ ”
งัดภูมิปัญญาอีสานสู้วิกฤติปูตายวันละ1-2กก.
“แม่พร” อธิบายด้านเทคนิคว่า พ่อ-แม่พันธุ์ปูนา เป็นพันธุ์กำแพงเพชร และพันธุ์พระเทพ เลี้ยงตามที่อินเตอร์เน็ทสอน และทำไปแบบลองผิดลองถูก ตอนนี้พ่อแม่พันธุ์เป็นลูกผสมแล้ว การเลี้ยงในระบบน้ำใส และธรรมชาติ ทำเหมือนกัน จะใช้อาหารเดียวกันคือ อาหารเม็ดปลาดุก พืชผักสีเขียว และไม่มียาปฏิชีวนะ-สารเคมี ปูนาน้ำใสจะปล่อยน้ำออก และสเปรย์น้ำเข้าไปแทนทุก 2-3 วัน ส่วนบ่อธรรมชาติมีเพียงปล่อยน้ำเพิ่ม
นางพรเพ็ญ ฯ อธิบายต่อว่า เมื่อปูนาผสมพันธุ์จนตั้งท้อง จะต้องเอาใจใส่สังเกตแม่ปูทุกขั้นตอน เมื่อพบตั้งท้องให้แยกมารวมเฉพาะแม่ปู (บ่อผดุงครรภ์) , จนแม่ปูสภาพใกล้คลอด , ต้องแยกออกมาที่ห้องคลอด , คลอดแล้วแยกออกไปพักฟื้น จนแข็งแรงส่งกลับมาผสมพันธ์อีก ส่วนลูกปูก็จะต้องเอามาอนุบาล คัดเลือกเอาไปเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ หรือส่งไปที่บ่อเลี้ยงธรรมชาติ
“แม่พร” เล่าถึงการใช้ภูมิปัญญาอีสาน มาช่วยเลี้ยง “ปูนา” ว่ามีช่วงวิกฤติ “ปูนาตาย” ทุกวันๆละ 1-2 กก. ด้วยอาการท้องเสีย ลอกคราบไม่หมด และอาการอื่นๆ “แม่” แนะนำเรื่องยาโบราณ น่าจะใช้พืชผักหรือสมุนไพร “รสฝาด” จึงลองเอา “ใบตอง” ใส่ในบ่อเลี้ยง เปรียบเทียบกับบ่อไม่ใช้ พบว่าบ่อใส่ใบตองปูนาไม่ตาย จึงนำมาใช้ในการเลี้ยงบ่อละ 1 ใบต่อวัน รวมทั้งการใช้หญ้าเนเปีย (เลี้ยงวัว) ที่มีโปรตีนสูงมาให้ปูนากินด้วย
ภาคการเกษตรอุดรธานีแบบเดิมๆ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา จะมีตลาดรองรับเพิ่มอีกหรือไม่ เดี๋ยวนี้มีเกษตรใหม่ๆเพิ่มเข้ามา พืชผัก-ผลไม้บางชนิด-ดอกไม้ตัดดอก-สวนเกษตรเพื่อท่องเที่ยว “เลี้ยงปูนาน้ำใส-ปูนาบ่อดิน” ขายทดแทนปูนาในธรรมชาติ ที่เต็มไปด้วยสารเคมี และจำนวนลดลงเรื่อยๆ
แล้วมีอะไรที่น่าสนใจทำอีกบ้าง……….ขอลุยกันอีกซักยก ลูกอีสานไม่เคยท้อ สู้แบบไม่ถอยอยู่แล้ว