วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Google search engine
หน้าแรกสังคมยัน 2 รง.ปล่อยน้ำเสียข้าว 400 ไร่เสียหาย

ยัน 2 รง.ปล่อยน้ำเสียข้าว 400 ไร่เสียหาย

สวล.9 สรุปหลักฐานนาข้าว 400 ไร่ตาย น้ำในโรงงาน-จุดระบาย-ลำห้วย-นาข้าว มีองค์ประกอบเดียวกัน นายก อบต. ประสานเสียงประชารัฐ 2 โรงงาน ปล่อนน้ำเสียง-ส่งกลิ่นเหม็นมาต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริราชวรานุวัตร ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหา กรณีน้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติและพื้นที่เกษตร ตามการปรับปรุงคำสั่งใหม่ เพื่อสอดคล้องกับกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติ โดยมีนายชัยพิชิต สอนสมนึก ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) อุดรธานี นำคณะทำงานตามคำสั่ง ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง , อปท. และองค์กรจากประชาสังคม เข้าร่วมประชุม โดยมีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 20 คน รอฟังผลการประชุมอยู่ด้านนอก

นายชัยพิชิต สอนสมนึก ทสจ.อุดรธานี ได้รายงานถึงการประชุมคำสั่งคณะทำงาน ที่มีอำนาจในการติดตามตรวจสอบ ป้องกัน และแก้ไขปัญหา น้ำเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำเพื่อการเกษตร ตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย โดยไม่มีอำนาจในการ “ไกล่เกลี่ย” ที่พุ่งเป้าไปที่เหตุการณ์นาข้าวในพื้นที่ ต.เชียงยืน อ.เมือง อุดรธานี มากกว่า 400 ไร่ ชาวบ้านร้องเรียนเกิดจาก “โรงงานอุตสาหกรรม” 2 โรง ในพื้นที่ อบต.โคกสะอาด และ อบต.เชียงพิณ ที่ตั้งอยู่ริมห้วยยาง น่าจะปล่อยน้ำเสียลงในลำห้วย ความเสียหายเบื้องต้นราว 1.5 ล้านบาท

 

นายสายัณต์ หมีแก้ว ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สนง.สิ่งแลดล้อม ภาค 9 อุดรธานี รายงานยืนยัน ว่า ความเสียหายของนาข้าวเกิดจาก โรงงานแป้งมันสำปะหลัง ต.โคกสะอาด และโรงงานยางพาราแท่ง ต.เชียงพิณ อ.เมือง จ.อุดรธานี หลังจากที่ชาวบ้านร้องเรียนทางโทรศัพท์ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงตรวจสอบพื้นที่ และลงตรวจสอบกับทีมงานต่อเนื่อง ไม่พบเห็นการระบายน้ำออกจากโรงงาน แต่พบอุปกรณ์และท่อ สามารถระบายน้ำออกมาได้ ทั้งระบายลงไปในลำห้วย และระบายผ่านสวนยางพารา

โดยน้ำในลำห้วยยางไหลผ่าน รง.แป้งมันฯ ก่อนไหลผ่าน รง.ยางแท่ง น้ำในลำห้วยไม่มีสภาพเป็นน้ำโดยธรรมชาติ , สภาพน้ำไหลต่อเนื่อง , สีขุ่นเข้มมีกลิ่นเหม็น , มีฟองอากาศผุดขึ้นตลอดเวลา , มีปลาลอยขึ้นหายใจ และมีปลาตายในบ่อเอกชน แล้วไหลลงไปรวมกับลำน้ำห้วยหลวง ซึ่งทำให้ “ต้นข้าว” ในพื้นที่ ต.เชียงยืน เน่าตายภายในไม่กี่วัน ผิดจากข้อมูลทางวิชาการ ที่เร็วกว่า 3-4 เท่าตัว จึงตรวจองค์ประกอบน้ำในบ่อของโรงงาน น้ำในจุดที่มีท่อระบายออกมา และในจุดต่าง ๆของลำห้วย พบว่าน้ำในโรงงาน , ลำห้วย ตลอดจนที่นาข้าว มีองค์ประกอบเดียวกัน ทั้งค่าความเค็ม , ฟอสเฟส และอื่น ๆ จึงเชื่อว่าข้าวในนาตายจาก 2 โรงงาน

 

ด้าน สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ชี้แจงว่า ได้ลงตรวจสอบตามที่ สวล.9 แจ้งมา ก็พบว่าทางกายภาพเหมือนกับ สวล.9 รายงาน แต่ไม่พบ(เห็นกับตา)มีการระบายน้ำออกจากโรงงานทั้ง 2 โรงงาน โดยโรงงานแป้งมัน ได้รับอนุญาตให้ระบายน้ำ ที่ได้รับการบำบัด ที่ผ่านการตรวจสอบโดยโรงงาน ส่งไปให้เกษตรกร 120 ราย พื้นที่รวม 1,500 ไร่ ซึ่งจะต้องรายงานให้อุตสาหกรรมฯ และ อปท. แบบรายวันทุกเดือน สำหรับโรงงานยางแท่ง ไม่ได้รับอนุญาตให้ระบายน้ำออก ยังต้องรอเอกสารจาก สวล.9 เพื่อดำเนินการตามระเบียบ

นายศักดิ์สิทธิ์ คำทึง นายก อบต.เชียงยืน กล่าวว่า ความเดือดร้อนจาก 2 โรงงาน ส่งผลกระทบกับชาว ต.เชียงยืน มานานมาก แต่เพราะโรงงานตั้งอยู่ในเขต อบต. เชียงพิณ และ อ.โคกสะอาด อ.เมือง เราทำอะไรไม่ได้เลย โดยมีปัญหาปลาตายในลำห้วยยาง และลำห้วยหลวง บ่อย ๆ 1-2 เดือนต่อครั้ง เชื่อว่าเพราะโรงงานปล่อยน้ำเสียลงห้วย จึงอยากขอคำแนะนำจากที่ประชุม ว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ไม่อยากให้เกิดแบบนี้อีก รวมทั้งเรื่องของกลิ่นโรงงาน ที่ลอยไปไกลหลายกิโลเมตร

นายภาคภูมิ ปุผมาศ เครือข่ายภาคประชาชน จ.อุดรธานี กล่าวว่า ขอบคุณ สวล.9 ที่ไปตรวจสอบอย่างรวดเร็ว แม้ไม่ทันได้เห็นการระบายน้ำ แต่ก็สามารถเก็บหลักฐาน ได้พอเชื่อว่าโรงงานระบายน้ำออกมาจริง เพื่อนำไปใช้เรียกร้องการเยียวยา เอาไปซื้อข้าวกินแทนข้าวที่เสียหาย หรือไปใช้หนี้สินที่หยิบยืมมา ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะดำเนินคดีถึงที่สุดด้วย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะโรงงานนี้มีปัญหามาหลายครั้ง มาตั้งแต่เริ่มตั้งโรงงาน

นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี สรุปการประชุมว่า ขอให้สิ่งแวดล้อมภาค 9 รายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้ สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เรื่องการระบายน้ำออกจากโรงงาน หากโรงงานยอมรับการระบายน้ำจริง ขอให้อำเภอเมืองอุดรธานี ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเจรจา เพื่อเยี่ยวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น หากโรงงานปฏิเสธไม่ได้ระบายน้ำออก ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแจ้งความดำเนินคดีตาม พรบ.โรงงาน , พรบ.สิ่งแวดล้อม และ พรบ.ประมง นอกจากนี้ให้พิจารณามาตรการป้องกัน รวมทั้งการขุดลอกตะกอนในห้วยยางที่สะสมมานาน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังสอบถาม กรณีร้องเรียนโรงงานยางพาราในพื้นที่ อ.หนองหาน มีน้ำเสียไหลลงลำห้วยสาธารณะ มาตั้งแต่ปี 2558 เป็นเหตุให้ปลาตาย และลูกวัวตาย การตรวจสอบไม่มีหลักฐานยืนยันการกระทำผิด จึงไม่มีการดำเนินการต่อ แต่ปัญหายังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ และกรณีร้องเรียนน้ำเสียจากบ่อขยะ ทน.อุดรธานี ไหลออกมาลงไร่นาประชาชน ซึ่งมี ส.ส.ยื่นกระทู้สดต่อสภาผู้แทนราษฎร ขอให้เชิญโรงงานยางพารา , ทน.อุดรธานี และโรงแยกขยะเอกชน มาชี้แจงข้อเท็จจริง และแจ้งมาตรการแก้ไขและเฝ้าระวัง…

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments