ชวนเที่ยวงานสืบสานประเพณีบุญคูณลาน “กุ้มข้าวใหญ่” ร่วมใจสร้าง “เจดีย์รวงข้าว” ส่งเสริมการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่วัดนาคาเทวี บ้านนาข่า ตลาดผ้าพื้นเมืองใหญ่ที่สุดในอีสาน ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้เตรียมสถานที่จัดงาน “ทำบุญเบิกฟ้า บูชาเจดีย์รวงข้าว” พบพระสงฆ์และชาวบ้าน ช่วยกันประดิษฐ์เจดีย์รวงข้าวกลางลานวัด ด้านหน้าเจดีย์จะเป็นหุ่นฟางนักษัตร 8 ตนขนาดใหญ่ ประกอบด้วย พญานาค เสือ ราชสีห์ หนู พญาครุฑ วัว ช้าง แมว ไว้เป็นตัวพึ่งพาสำหรับสะเดาะเคราะห์ผู้ดวงไม่มี และประดับลานวัดด้วยสายธุงอีสาน หรือธงแมงมุมโมบาย หรือผ้าป่าลอยฟ้า มีนักท่องเที่ยวมาตลาดผ้านาข่า ทยอยกันเข้ามาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
พระครูปฎิภาณวิสุทธิคุณ เจ้าคณะตำบลบ้านขาว อ.เมือง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า การสร้างเจดีย์รวงข้าว เพื่อสืบทอดประเพณี ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ ของชาวอีสาน ในเดือนอ้าย-เดือนยี่ ชาวบ้านจะทำบุญคูณลาน บุญกุ้มข้าวใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไม่มีบุญคูณลาน เพราะใช้รถเกี่ยวข้าวและสี จึงต้องการรื้อฟื้นประเพณี ว่าสมัยก่อนพ่อแม่เคยทำแบบไหน จึงชวนพระและชาวบ้านมาทำให้เป็นรูปทรงเจดีย์ ให้กราบไหว้ระลึกถึงพระคุณแม่โพสก ถือโอกาสจัดงานในช่วงปีใหม่ หากมีโอกาสมาเที่ยวตลาดผ้านาข่า
“ บุญเบิกฟ้า บูชาเจดีย์รวงข้าวจะจัดระหว่า 31 ธ.ค.64-15ม.ค.65 ก็ขอเชิญชวนลูกหลานชาวบ้านนาข่าและใกล้เคียง มาเที่ยวประเพณีอีสานบ้านเรา เพื่อไม่เลือนหายไปจากประเพณีวัฒนธรรมอีสาน โดยวันที่ 31 ธันวาคม จะมีการบวงสรวงเปิดงานเจดีย์รวงข้าว สวดเจริญพุทธมนต์ สวดมนต์ข้ามปี สวดนพเคราะห์ สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา สาธยายมนต์ จนสว่าง หรือสวดมนต์ข้ามปี ”
เจ้าคณะตำบลบ้านขาว กล่าวต่อว่า ชาวบ้านใน ต.บ้านขาว ต.นาข่า และอีกพื้นที่ นำรวงข้าวมาบริจาคถวายวัด เพื่อสร้างเจดีย์รวงข้าว หลังเสร็จงานแล้วจะให้ชาวบ้านมาบูชา เอารวงข้าวไปบูชาเป็นเมล็ดพันธ์ในฤดูกาลหน้า ส่วนเงินที่ได้จากการบูชาเอารวงข้าว และสายธุงอีสาน หรือผ้าป่าลอยฟ้า เงินที่ได้จากการบูชารวงข้าว จะนำไปสร้างศาลาพักศพข้างเมรุป่าช้าหมู่บ้าน หรือนำไปบำรุงพระพุทธศาสนา ส่วนข้าวที่เหลือจะนำไปสีแจกให้ผู้ยากจนต่อไป ”
พ.ต.อ.วิธ มุทธสินธุ์ นายกเทศมนตรี ทต.นาข่า เปิดเผยว่า ฐานเจดีย์รวงข้าวเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 5 เมตร สูงถึงยอดฉัตร 21 เมตร ส่วนรวงข้าว หรือฟ่อนข้าว ชาวบ้านนำมาทำบุญ 2 หมื่นกว่าฟ่อน หลังจากเสร็จงานบุญเบิกฟ้า บูชาเจดีย์รวงข้าว ก็จะให้ชาวบ้านมาบูชานำไปบูชาเป็นสิริมงคล บูชาบนหิ้งพระ ในยุ้งข้าว หรือนำไปทำพันธ์ข้าวปลูกในฤดูกาลต่อไป ลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด เมื่อเดินทางกลับมาบ้านมาจะได้ร่วมทำบุญ แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของชุมชน…