จราจร ชม.เร่งด่วนถนนศรีสุขวุ่นวาย รถล้นท้ายขวางกลางสี่แยก ทำรถผ่านไฟเขียวไปไม่ได้ หลังระบบควบคุมการจราจรอัตโนมัติ ATC ใช้งานไม่ได้ต้องใช้ตั้งเวลาแทน แถมลาดแอดฟัลส์ติกทัพแล้ว ปิดทางซ่อมระบบเซนเซอร์ วิศวกรขนส่งชี้ ทน.อุดรธานี ต้องทำตามการศึกษาของ สจร. เร่งเอาระบบกลับมาก่อนจลาจล
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ทีมข่าวได้เดินทางดูข้อเท็จจริง การจราจรบนถนนศรีสุข ในเขต ทน.อุดรธานี ในช่วงโมงเร่งด่วน ตามคำร้องเรียนของผู้ใช้รถใช้ถนนบนถนนศรีสุข ว่าการจราจรมีการเคลื่อนตัวช้าผิดปกติ จนบางครั้งรถที่เคลื่อนตัวผ่านสัญญาไฟไปแล้ว แต่ยังติดค้างอยู่บนทางแยก เมื่อสัญญาไฟจราจรได้เปลี่ยน ให้รถอีกด้านผ่านทางแยกไปได้ จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ในบางช่วงจังหวะเวลาบ่อยๆ หรือเกิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว เมื่อลงไปตรวจสอบพบว่า ปัญหาการจราจรมีลักษณะเหมือนคำร้องเรียน แต่จะเกิดต่อเนื่องบริเวณทางแยก บางจังหวะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน โดยไม่มีเจ้าพนักงานจราจร หรือหน่วยงานข้างเคียงมาอำนวยความสะดวก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนถนนศรีสุข ทน.อุดรธานี ได้นำระบบจัดการจราจรอัตโนมัติมาใช้ ตามคำแนะนำของ สนง.นโยบายและแผ่นการจัดการจราจร (สนข.) ที่ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาทำแผนแม่บทเมื่อ ปี 2542 ได้แนะนำให้ใช้นำระบบ “แอร์เรียทราฟฟิกคอนโทรน” หรือ (ATC) มาใช้เหมือนกับ กทม.+พัทยา+เมืองใหญ่ทั่วโลกมาใช้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศ ออสเตรเลีย และ ทน.อุดรธานี ได้ใช้งบประมาณนำระบบมาใช้ตามคำแนะนำ เริ่มต้นที่ ถ.ศรีสุข ก่อนเป็นสายแรก และนำมาใช้งานได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แม้จะมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง เชื่อว่าปัญหาการจราจนรครั้งนี้ น่าจะเกิดจากระบบไม่สามารถใช้งานได้
อดีตวิศวกร ทน.อุดรธานี ที่เคยดูแลเรื่องนี้อธิบายว่า ATC เป็นระบบที่ทันสมัยในขณะนั้น และยังมีการพัฒนาและใช้งานได้ดีอยู่ ทน.อุดรธานี นำมาใช้ครั้งแรกบนถนนศรีสุข ซึ่งเป็นย่านสถานศึกษา มีปัญหามากในชั่วโมงเร่งด่วน ตั้งแต่แยกบ้านหมากแข้ง-แยกวิทยาลัยอาชีวะศึกษา (5 ทางแยก) โดยระบบของ ATC จะทำการติดตั้ง “เซ็นเซอร์” อยู่ใต้ผิวการจราจรในทางแยกหลัก เพื่อตรวจนับรถยนต์ที่ผ่านไปแบบเรียวไทม์ แล้วส่งข้อมูลผ่านตู้ควบคุมไฟสัญญาจราจร กลับไปยังศูนย์ควบคุมที่ ทน.อุดรธานี เพื่อประมวลผลจากทุกทางแยก สั่งการกลับมายังตู้ควบคุมไฟจราจรทุกทางแยก ให้เปิด-ปิดไฟสัญญาทันที (สั่งโดยระบบ)
“ เมื่อระบบประสบความสำเร็จ ก็ขยายมาทำระบบที่ถนนโพศรี จากแยกศรีวิไล ถนนโพศรีตัดกับถนนอำเภอ ไปจนถึงแยกวัดโพธิสมภรณ์ จากนั้นก็ขยายไปที่ถนนอุดรดุษฎี จากสามแยกหน้า รร.วีธรา มาจนถึงสามแยกถนนเบญจางค์ ตัดกับถนนอุดรดุษฎี ซึ่งก็ใช้เวลาทดสอบและพัฒนาหลายปี และที่ผ่านมาก็ต้องบำรุงรักษา และพัฒนาระบบ ไม่รู้ว่าปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ ทั้งเซ็นเชอร์รับข้อมูล+การส่งข้อมูลไปประมวลผล+ระบบประมวลผลสั่งการ+และการปฏิบัติ และการที่ ทน.อุดรธานี พัฒนาเมืองด้วยการปรับปรุงผิวจราจรแบบ “โอเวอร์เลย์” หรือเทแอสฟัลส์ติกทับถนนศรีสุข จะทำให้ระบบเป็นอย่างไร แต่ที่ตอบได้คือ “ปรับปรุงซ่อมแซมเซนเซอร์ไม่ได้” เพราะถูกทับไปหมดแล้ว ”
ขณะที่สำนักการช่าง ทน.อุดรธานี ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูในส่วนนี้ ชี้แจงว่า ระบบควบคุมการจราจร ATC มีปัญหาต้องแก้ไขและพัฒนามาต่อเนื่อง จากปัญหาพฤติกรรมของคนขับรถ และการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร.จร.ในช่วงเวลาของการควบคุมไฟสัญญาจราจร และชั่วโมงเร่งด่วน หรือช่วงที่มี “ขบวน วีไอพี” หลายครั้งที่มีเจ้าพนักงานตำรวจจราจร ที่ไม่ได้มีความชำนาญ+ผ่านการอบรม+ทำความเข้าใจ ในอุปกรณ์เฉพาะ ทำให้ระบบเกิดความเสียหาย โดยก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งจากผู้รับผิดชอบว่า ระบบ “ATC” บนถนนศรีสุข ไม่สามารถใช้งานได้ จึงควบคุมไฟสัญญาจราจรด้วย “ฟิกไทม์” ส่วนบนถนนโพศรี และอุดรดุษฎี ยังไม่มีข้อมูล
วิศวกรขนส่งอิสระชาวอุดรธานี มีความเห็นว่า ระบบ ATC มีการพัฒนาและได้รับการยอมรับระดับสากล การนำระบบนี้มาใช้ใน ทน.อุดรธานี เป็นไปตามแผนการศึกษาของ สนข. หากไม่มีระบบนี้ทำช่วยประมวลผล และสั่งการแบบอัตโนมัติ การจราจรบนถนนศรีสุข หรือถนนสายอื่นอาจจะมีปัญหา และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้เห็นได้ชัดที่ถนนศรีสุข รถที่ผ่านทางแยกหลักไปแล้ว มีรถยนต์สะสมเกินมาถึงแยกหลักนั้น ทำให้รถยนต์อีกด้านผ่านไปไม่ได้ จึงจำเป็นจะต้องนำระบบอัตโนมัติกลับมาใช้…..