เสียงรับขวัญ รับพร พิธีสู่ขวัญบ้านสูงขวัญเมือง 5 หมื่นคนดังกึกก้องงาน ระลึกการตั้งเมืองอุดรธานี ก้าวเข้าปีที่ 126 ประกาศสดุดี พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พื้นที่รอยอนุสาวรีย์ และถนน 5 สายเปลี่ยนเป็นสีแสด
ตั้งแต่เช้าวันที่ 18 มกราคม 2562 ที่อนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เทศบาลนครอุดรธานี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานงานวันที่ระลึกการตั้งเมืองอุดรธานี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 126 เพื่อน้อมรำลึกถึงพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมที่ เลือกบ้านเดื่อหมากแข้งเป็นที่ตั้งทัพ หลังถอนจากริมแม่น้ำโขง ตามสันธิสัญญา รศ.112 จนเติบโตมาเป็นเมืองอุดรธานี โดยหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ นำทายาทราชสกุลทองใหญ่ และนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำตุลาการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน เข้าร่วมพิธีกว่า 50,000 คน ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานนำทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 127 รูป , ประกอบพิธีสงฆ์ 10 รูป , วางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะ , พิธีบายศรีสู่ขวัญบ้านสู่ขวัญเมือง ตามประเพณีอีสาน ด้วยพานบายศรียักษ์รัศมี 2 เมตรสูง 5 เมตร เครื่องประกอบบายศรี ข้าวมัด หมากพลู ไข่ต้ม บุหรี่ อย่างละ 1,227 ชุด ระหว่างทำพิธีจนถึงช่วงเรียกขวัญ ประชาชนที่มาร่วมงานส่งเสียงรับขวัญ และเสียงสาธุหลังรับพร ดังกึกก้องไปทั่วท้องถนน 5 สาย มุ่งสู่อนุสาวรีย์ , รำบายศรีสู่ขวัญบ้านสู่ขวัญเมือง , ราชสกุลทองใหญ่ประกอบพิธีบวงสรวงสังเวย และอ่านประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติ
จนเวลา 09.39 น. เข้าสู่ช่วงเวลารำบวงสรวงสดุดีฯ ที่ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อมา จากการเริ่มรำครั้งแรกเพียง 19 คน สวมใส่เสื้อสีแสด ผ้าถุง และสไบย้อมคราม ทัดดอกทองกวาว ถือมาลัยกรเป็นเครื่องบูชา โดยจำนวนผู้รำมีมากขึ้นทุกปี ในปีนี้ น.ส.สุดารัตน์ บุตรพรหม หรือ “ตุ๊กกี้ ชิงร้อย” ดาราตลกร้อยล้าน ชาว อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี มาร่วมรำติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดยปีนี้มีผู้แสดงความจำนง จากทุกอำเภอมาร่วมรำ โดยรอบอนุสาวรีย์ฯ และถนน 5 สาย เป็นเหมือนรัศมีสีแสด 5 แฉก บนถนนทหาร 2 ช่วง , ถนนศรีสุข ,ถนนสุรการ และถนนโภคานุสรณ์ ยาวต่อกันสุดลูกหูลูกตา ที่เชื่อว่าหากใครได้มาร่วมรำบวงสรวงติดต่อกัน จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองครอบครัว
บรรยากาศงานวันระลึกตั้งเมืองอุดรธานี มีผู้มาร่วมรำบวงสรวงมากขึ้นทุกปี หลายคนหาเครื่องแต่งกายให้บุตรหลานนำมาร่วมรำ ให้สืบทอดต่อไปยังลูกหลาน ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่ได้มาร่วมรำ ทั้งห้างร้าน องค์กร กลุ่ม ประชาชนทั่วได้ ได้พร้อมใจกันนำอาหาร อาทิ ข้าวจี่ , ซาลาเปา , ขนมปังปิ้งเวียดนาม , ข้าวเหนียวหมูปิ้ง , ข้าวต้ม , ก๋วยเตี๋ยว , ตลอดจนเครื่องดื่ม น้ำเปล่า กาแฟ น้ำเก็กฮวย น้ำผลไม้ และผลไม้ ให้แจกจ่ายให้บริการฟรี
ทั้งนี้จากการจัดเตรียมงานในปีนี้ ที่ได้รับการปรับแต่งขึ้นทุกปี ได้รับคำชื่นชมในหลายส่วน โดยเฉพาะขั้นตอนพิธีการที่กระชับขึ้น , การใช้พิธีกรคู่ชาย-หญิงทำให้บรรยากาศไม่เคร่งเครียด , ระบบเสียงที่กระจายออกพร้อมกัน ทำให้การรำอยู่ในจังหวะเดียวกัน , หลังเสร็จพิธีสมบูรณ์ปิดท้ายด้วยดนตรีสด “วงโปงลาง” ในจังหวะสนุกสนาน กระตุ้นให้ผู้คนมาร่วมงาน เหมือนมาร่วมงาน “บุญ” ของภาคอีสาน แต่ก็ยังมีข้อทักท้วงในบางส่วน อาทิ ตากล้องในช่วงพิธีมีจำนวนมาก