ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ว่าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี ได้ลดการระบายน้ำของอ่างฯห้วยหลวง หลังจากฝนที่ตกลงมาเหนืออ่างฯลดลง จากวันละ 17.96 ล้าน ลบม.มาเป็น 16.91 ล้าน ลบม. และมีแผนลดลงมาอีกหากฝนหยุดตก โดยน้ำที่ระบายออกมาได้ไปรวมกับน้ำจากลำห้วยยาง และลำห้วยเชียง ที่ประตูน้ำบ้านหัวขัว และระบายผ่านไปรวม 19.52 ล้าน ลบม. ขณะที่อ่างฯหนองสำโรง อ่างฯบ้านจั่น และอ่างฯกุดลิงง้อ ก็ลดการระบายออกเช่นกัน
น้ำที่ระบายออกมาตาม “ลำห้วยหลวง” มีสภาพกระแสน้ำไหลแรง ได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร , ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ , ถนน และบ้านเรือน ในพื้นที่ ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ และ ต.เชียงยืน อ.เมือง ก่อนหน้านี้ได้ทรงตัว และลดระดับลงมาเล็กน้อย แต่ยังมีบางพื้นที่ยังต้องใช้ “เรือ” ในการเดินทางเข้าออก ที่บ้านจำปา และบ้านป่อง ต.เชียงยืน ขณะที่มีชาวบ้านบางส่วน นำอุปกรณ์จับปลา โดยเฉพาะ “ยอ” หรือ “สดุ้ง” ออกจับปลาบริเวณมีกระแสน้ำแรง และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งมาหาซื้อปลาไปรับประทาน
ทั้งนี้มวลน้ำได้ไหลต่อเข้าพื้นที่ ต.หมูม่น และ ต.นากว้าง อ.เมือง ที่อยู่ด้านตะวันตกของถนนมิตรภาพ อุดรธานี-หนองคาย น้ำได้เอ่อล้นลำน้ำห้วยหลวง แล้วไหลกระจายตามลำห้วยสาขา เข้าท่วมพื้นที่นาข้าว ถนน และบ้านเรือน โดยเฉพาะ ต.หมูม่น ม.1 , 2 , 3 , 4 , 5 และ 13 อย่างหนัก มีเพียง ม.10 และ 11 มีความรุนแรงน้อย โดยน้ำเริ่มท่วมตั้งแต่เช้า บ้านเรือนที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ ต้องขอความช่วยเหลือ จาก ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย , อบต. , ทหาร และอาสาสมัคร ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นมาที่สูง
ที่บ้านทุ่งแร่ ม.2 และ 3 ต.หมูม่น ที่มีลำน้ำห้วยหลวงอยู่ทิศเหนือ มีลำห้วยสาขาไหลผ่าน 2 ลำห้วย มีน้ำท่วมรุนแรงมากที่สุด น้ำเริ่มไหลเข้ามาช่วง 07.00 น. และเพียง 30 นาที น้ำไหลเข้าบ้านเรือน ถนนในหมู่บ้าน รีสอร์ทหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่ใกล้ลำห้วยหลวง หรือริมลำห้วยสาขา บางส่วนได้เก็บของขึ้นที่สูง หลังจากได้รับคำเตือน แต่บางส่วนเก็บทรัพย์สินไม่ทัน จากที่ไม่ได้รับคำเตือน และไม่เชื่อน้ำจะท่วมจริง
ชาวบ้านทุ่งแร่ ระบุว่า เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2544 ระดับน้ำใกล้เคียงกับครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องยกบ้านสูงขึ้น (ดีด) 1-2 เมตร บ้านที่สร้างไหมก็ถมที่ดินสูงขึ้น แต่จากที่น้ำไม่ท่วมมานาน และท่วมเฉพาะพื้นที่นาข้าว มีบ้านหลายหลังต้องจมอยู่ใต้น้ำ นอกจากนี้ยังมีหลายหลัง ออกไปทำงานตอนเช้าน้ำยังไม่ท่วม เพื่อนบ้านโทรบอกก็ลางานกลับมาขนของ บางคนไม่มีกำลังก็อาศัยอยู่กับน้ำ โดยมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน
เวลา 16.00 น. วันเดียวกันที่บ้านทุ่งแร่ ต.หมูม่น นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เดินทางมากับเหล่ากาชาดอุดรธานี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบสิ่งของเป็นกำลังใจ ในครอบครัวที่รับผลกระทบเบื้องต้น ให้กับผู้ได้รับผลกระทบมารับเอง และลงเรือไปส่งมอบถึงที่บ้าน โดยกองบิน 23 อุดรธานี , ปภ.อุดรธานี และอาสาสมัครฯนำเรือมาสนับสนุน ทั้งนี้ยังมีหน่วยแพทย์จาก รพ.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม มาออกหน่วยบริการ และมอบยาสามัญประจำบ้านด้วย
นายวิมล สุระเสน นายอำเภอเมืองอุดรธานี รายงานว่า จากฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง และการพร่องน้ำของ “อ่างฯห้วยหลวง” เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำในอ่างฯ มีการประกาศเตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่ตามแนวลำห้วยหลวง ให้ยกของขึ้นที่สูง และย้ายออกจากที่ลุ่มต่ำ ทำให้ไม่มีความเสียหายรุ่นแรง โดย อ.เมือง ได้รับผลกระทบโดยตรง 6 ตำบล 70 หมู่บ้าน 190 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรท่วมแล้ว 10,770 ไร่ ซึ่งผลกระทบจากการไหลของน้ำ จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.กุดสระ ต.นาข่า และ ต.สามพร้าว ซึ่งได้แจ้งเตือนไว้ล่วงหน้าแล้ว
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า กลับจากการไปประชุมที่กรุงเทพฯ ด้วยความห่วงใยก็มาพบกับพี่น้อง มากับกาชาดเป็นกำลังใจเบื้องต้น เดี๋ยวหน่วยงานอื่นจะตามมา จากเดิมจังหวัดคาดกาลว่า ปรากฏกาล “เอลนิลโฌ” คงจะไม่มีฝนตกลงมาแบบนี้ แต่กลับกลายเป็นว่ามีฝนต่อเนื่อง แล้วมีน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง “อ่างฯห้วยหลวง” ซึ่งมีน้ำเต็มความจุ 100 %
“ ถ้าไม่ระบายออกมาก็ล้นมาท่วม จึงต้องทยอยระบายออกมา ก็ได้กำชับให้หน่วยงานรับผิดชอบ องค์กรปกครองท้องถิ่น เตรียมรับกับเหตุการณ์ไว้ ทำให้ปัญหาต่าง ๆลดลง ต่อไปคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทางราชการจะแจ้งข่าวสาร จนจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ขอให้พี่น้องติดตามสถานการณ์ ถ้าไม่มีฝนตกลงมาก็จะดีขึ้นตามลำดับ ”