วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Google search engine
หน้าแรกธุรกิจอุดรฯเผาอ้อย 50-70 เปอร์เซ็นต์ แต่ไร้เครื่องวัดฝุ่น

อุดรฯเผาอ้อย 50-70 เปอร์เซ็นต์ แต่ไร้เครื่องวัดฝุ่น

ฝุ่นจิ๋วอุดรฯไม่น้อยหน้าแต่ไร้เครื่องวัด โรงงานน้ำตาล 4 โรงยอมรับซื้ออ้อยเผา 50-70 เปอร์เซ็นต์ แถมเงินหักอ้อยเผาตันละ 30 บาท ถูกส่งกลับให้ชาวไร่ส่งอ้อยเผา 30 เปอร์เซ็นต์ ตัวแทนชาวไร่อ้อยขอเพิ่มแรงจูงใจ แทนมาตรการตามกฎหมาย ผู้ว่าฯเตรียมถกอีกรอบก่อนปิดหีบ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการอ้อยน้ำตาล จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำคณะอนุกรรมการฯส่วนราชการ และตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล 4 โรงในพื้นที่ ประกอบด้วยโรงงานน้ำตาลเกษตรผล , โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี , โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม เข้าประชุมติดตามการหีบอ้อย และส่งอ้อยสด-อ้อยเผาเข้าโรงงาน

ที่ประชุมได้รายงาน จ.อุดรธานีมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในภาคอีสาน ทุกโรงฯมีแผนปิดหีบก่อนสงกรานต์ หรือเหลือเวลาอีก 51 วัน ภาพรวมตัดอ้อยส่งโรงงานแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือหากไม่มีอุปสรรคจะทันตามแผน สำหรับปัญหาฝุ่นควันจากการเผาอ้อย ทุกโรงงานรับซื้อ “อ้อยสด” ได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังรุนแรง แยกเป็นการรับซื้ออ้อยสดของ โรงงานน้ำตาลเกษตรผล 49 เปอร์เซนต์ , โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี 48 เปอร์เซนต์ , โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี 35 เปอร์เซนต์ และโรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม 29 เปอร์เซนต์

ที่ประชุมรายงานด้วยว่า ค่าแรงงานตัดอ้อยสดจะสูงกว่า ค่าแรงการตัดอ้อยเผามาก แม้อ้อยเผาจะถูกหัก 30 บาทต่อตัน ก็ยังเหลือเงินมากกว่าใช้แรงงานตัดอ้อยสด สำหรับอ้อยเผาที่ส่งเข้าโรงงานจะถูกหัก 30 บาทต่อตัน ทุกปีจะเฉลี่ยคืนในชาวไร่ที่ส่งอ้อยสด แต่ปีนี้มีประกาศให้เฉลี่ยคืนชาวไร่ส่งอ้อยสด 70 เปอร์เซนต์ ที่เหลือเฉลี่ยคืนชาวไร่ส่งอ้อยไฟไหม้ หรือเท่ากับอ้อยไฟไหม้จะถูกหักเงินประมาณ 20 บาทต่อตัน ทำให้การเผาอ้อยยังสูงอยู่ แต่ไม่ตกเป็นข่าวเหมือน จ.ขอนแก่น และ จ.เลย เพราะ จ.อุดรธานี ไม่มีสถานีวัดคุณภาพอากาศ มีค่าเพียงเทียบเคียงจากสถานี จ.ขอนแก่น และ จ.เลย

นายเวียงชัย พิมพ์วาปี ตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยกำลังตกเป็นจำเลยสังคม ทั้งที่ชาวไร่ไม่อยากจะเผาไร่อ้อย แต่ด้วยความจำเป็นจากค่าแรงงาน ราคาอ้อยปีนี้ไม่ดี หักค่าใช้จ่ายแล้วไม่คุ้ม อยากจะให้ภาครัฐ และโรงงานฯออกมาตรการจูงใจ เพิ่มสวัสดิการ ลดอัตราดอกเบี้ย (ซื้อเครื่องจักร) ให้รางวัลผู้ส่งอ้อยสด หรือหักเงินคนส่งอ้อยเผาเป็น 50 บาทต่อตัน งดเครดิต งดรางวัล ไม่ต้องให้ไปเที่ยวด้วย

ขณะตัวแทนชาวไร่สมาคมอื่น ระบุว่า ถ้าใช้แรงงานตัดอ้อยจะได้ 1-1.5 ตัน/คน/วัน ถ้าใช้เครื่องจักรจะได้ 150-250 ตัน/คัน/วัน แล้วแต่ขนาดของรถตัดอ้อย ที่มีทั้งราคาใหม่จากต่างประเทศ 14 ล้านบาท/คัน และลงมาจนถึง 3-3.5 ล้านบาทต่อคัน รวมทั้งการใช้เครื่องตีใบอ้อย ก่อนให้แรงงานเข้าไปตัด ขณะนี้เครื่องจักรเริ่มมีมากขึ้น การสร้างแรงจูงใจจะทำให้ ชาวไร่อ้อยส่งอ้อยสดมากขึ้น แต่การใช้มาตรการตามกฎหมาย เกรงจะมีบางคนใช้ไปต่อรองทำชาวไร่เดือดร้อน

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แม้สถานการณ์ตอนนี้จะดีขึ้นแล้ว แต่ก็ทำให้ประชาชนมีความกังวล เมื่อพบไฟไหม้พื้นที่รกร้าง การเผาขยะ ตอซังข้าว และไร่อ้อย ได้แจ้งมายังผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่จะช่วยแก้ไขปัญหา จึงทำประกาศรณรงค์งดการเผา และการเผามีความผิดตามกฎหมาย และเห็นว่านายอำเภอทุกแห่ง น่าจะได้รับข้อมูลข่าวสาร จะสามารถเข้าแก้ไขได้ทันท่วงที ในประกาศจะมีหมายเลขโทรศัพท์นายอำเภอ ให้ประชาชนแจ้งเข้าไปโดยตรง

“ จังหวัดได้มาแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวไร่ ผู้ประกอบการขนส่ง และโรงงาน ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีมาตลอด ยกตัวอย่างเรื่องอุบัติเหตุเห็นได้ชัด ปีนี้จำนวนอุบัติเหตุจากรถอ้อยต่ำมาก สำหรับการเผาอ้อยเพื่อส่งเข้าโรงงาน ในช่วงการแก้ไขปัญหาในปีนี้ ก็ได้รับความร่วมมือจากโรงงาน มีการจัดคิวพิเศษให้รถขนอ้อยสด และช่วยกันประชาสัมพันธ์ ก่อนปิดหีบอ้อยในปีนี้จะนัดหมาย กำหนดมาตรการร่วมกันให้ชัดเจนอีกครั้ง ”

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments