วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Google search engine
หน้าแรกศิลปวัฒนธรรมชาวอุดรนับหมื่นคนรำถวายกรมหลวงประจักษ์ฯวันตั้งเมือง

ชาวอุดรนับหมื่นคนรำถวายกรมหลวงประจักษ์ฯวันตั้งเมือง

บวงสรวงกรมหลวงประจักษ์ วันก่อตั้งเมืองอุดรเข้าปีที่ 130 นางรำเรือนหมื่นมาตามนัด สร้างภาพประวัติศาสตร์ดาว 5 แฉกอีกครั้ง หลังโควิด-19 ทำให้ว่างเว้นไป 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่พระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานพิธี วันที่ระลึกการก่อตั้งเมืองอุดรธานี เข้าสู่ปีที่ 130 โดยมี หม่องหลวงสุพิชฌาย์ ทองใหญ่ อัศวนันท์ ผู้แทนราชสกุลทองใหญ่ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนมาร่วมรำบวงสรวงกว่า 10,000 คน

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นำทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 130 รูป , เชิญพานพุ่มดอกไม้สด ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม , ประกอบพิธีสงฆ์ ถวายภัตราหารปิ่นโต จตุปัจจัยไทยธรรม , ประกอบพิธีสู่ขวัญบ้าน สู่ขวัญเมือง ด้วยพานบายศรียักษ์ มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รำบายศรีสู่ขวัญบ้าน สู่ขวัญเมือง ก่อนประกอบพิธีถวายเครื่องบวงสรวงสังเวย

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี อ่านประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ความว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 25 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาสังวาล ประสูติ 5 เมษายน พ.ศ.2399 มีพระนามเดิมว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ พระองค์ทรวงเป็นต้นราชสกุล “ทองใหญ่”

เมื่อ ร.ศ.112 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไทยเกิดกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศษได้ส่งเรือรบเข้ามาปิดปากน้ำเจ้าพระยา บังคับให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศษ โดยไทยจะต้องไม่มีกองกำลัง ตลอดแนวลำน้ำโขง 25 กม. ซึ่งขณะนั้นพลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทร งดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ มีกองบัญชาการตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคาย จำเป็นต้องย้ายกองบัญชาการลงมาทางใต้

เมื่อวันที่ 18 มกราคม ร.ศ.112 ทรงเห็นว่าบ้านหมากแข้ง มีทำเลและชัยภูมิเหมาะสม ที่จะตั้งกองบัญชาการสามารถใช้เป็นศูนย์กลาง บังคับบัญชาหัวเมืองโดยรอบได้ จึงตั้งกองบัญชาการแห่งใหม่ขึ้น ณ ที่แห่งนี้ การตัดสินพระทัยของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิริยะอุสาหะ ทรงอดทนต่อความลำบากไม่ได้ย่อท้อ ประกอบกับมีสายพระเนตรอันยาวไกล บ้านหมากแข้งจึงพัฒนาเจริญรุ่งเรืองเป็น จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน

พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ขณะดำรงพระชนชีพ ทรงเป็นนักการทหาร นักปกครอง ที่ปรีชาสามารถยิ่งพระองค์หนึ่ง อีกทั้งเชี่ยวชาญในศิลปะ วิทยนาการหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านการช่าง กวีนิพนธ์ การคลัง และยังคงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ผู้บังคับบัญชากรมทหารล้อมพระราชวัง , แม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ที่ยกกำลังไปปราบพวกฮ่อ ณ มณฑลลาวพวน เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และองคมนตรี พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคอันตะพิการ เมื่อ 25 มกราคม 2467 สิริพระชันษา 68 ปี

จากนั้นประชาชนชาวกว่า 10,000 คน สวนเสื้อสีแสด หรือสีของ “ดอกทองกวาว” ที่อยู่ในบันทึกของพลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ว่าเมื่อครั้งยกไพร่พลจากหนองคาย ตามเส้นทางมาถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง ต้นทองกวาวออกดอกตลอดทาง สวมผ้าถุงทอมือสีเข้ม พาดด้วยผ้าเบี่ยงหรือสไบ ผมทัดด้วยดอกทองกวาว มารำบวงสรวงสดุดีนำมาลัยกรถวาย ถือเป็นประเพณีตั้งแต่ตั้งพระอนุสาวรีย์ฯ

การรำบวงสรวงของประชาชน มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่รำบวงสรวงล้อมรอบพระอนุสาวรีย์ญฯ ก็ถูกขยายไปบนถนน 5 สาย ประกอบด้วย ถนนทหาร 2 ด้าน , ถนนศรีสุข , ถนนโภคานุสรณ์ และถนนสุรการ เหมือนกันรัศมีสีแสด 5 แฉก “กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด” ได้บันทึกสถิติโลกไว้ แต่ในช่วงการระบาดโควิด-19 ในปี 64 และปี 65 รำกระจายตามจุดต่าง ๆ และถ่ายทอดสัญญามาที่พระอนุสาวรีย์ฯ ในปีนี้ได้กลับมารำที่พระอนุสาวรีย์อีกครั้ง….

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Google search engine

Most Popular

Recent Comments